เมื่อเมือง “นครศรีธรรมราช” เป็นจังหวัดน่าอยู่ที่สุดของไทย
เน้นเรียนรู้ให้เกิดความสัมพันธ์กับชีวิต เศรษฐกิจ สังคม
“จังหวัดน่าอยู่ คือ การทำทุกสรรพสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุข โดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และองค์กรปกครองท้องถิ่น” วลีของ ธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกอบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มคนทำงานเพื่อยกระดับให้นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดน่าอยู่ที่สุดของไทย
นครศรีธรรมราช ถูกเลือกให้เป็น “จังหวัดน่าอยู่” แห่งแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน “คิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ณ ลานวัฒนธรรม ราชพฤกษ์ไนท์บาร์ซาร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
นายมานะ ช่วยชู ผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนเมืองนครสู่จังหวัดน่าอยู่ สสส. เล่าว่า เหตุผลที่นครศรีธรรมราช ถูกเลือกให้เป็นจังหวัดน่าอยู่แห่งแรก เพราะมีต้นทุนที่สำคัญอย่างเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ และความร่วมมือที่สำคัญจากองค์กรปกครองท้องถิ่น และภาครัฐ
ซึ่งในช่วงแรก สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดงานตำบลในพื้นที่ระยะหนึ่ง เมื่อมีต้นทุนเพียงพอแล้ว จึงพัฒนาให้อยู่ในระดับของจังหวัด
ของดีที่มีอยู่ในนครศรีธรรมราช อย่างเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ดังเช่น
เครือข่ายสวัสดิการ มีภารกิจที่สำคัญในการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดสวัสดิการโดยชุมชนเพื่อคนในชุมชน ซึ่งครอบคลุมความต้องการขั้นพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตายของมนุษย์
เครือข่ายอาสาสมัครจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหน่วยอาสาสมัครโดยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับวางระบบข้อมูลอาสาสมัคร
เครือข่ายเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพ จากแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่สำคัญอย่าง แหล่งเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง, แหล่งเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง, แหล่งเรียนรู้ชุมชนไม้เรียงและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ กว่า 50 แห่ง จึงเกิดจากการเชื่อมโยงของกลุ่มต่างๆ ในจังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยให้ขยายผลเต็มพื้นที่
เครือข่ายพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ แกนนำจิตอาสา ระบบข้อมูลและแผนที่เสี่ยงภัยในการให้ความช่วยเหลือ
เครือข่ายปกป้องและคุ้มครองสุขภาวะจากผลกระทบ จากแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern sea board) ได้กำหนดให้พื้นที่ภาคใต้ตอนบนและจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก โดยย้ายถิ่นฐานการผลิตจากภาคตะวันออกมาสู่ภาคใต้ เครือข่ายปกป้องและคุ้มครองฯ จึงเกิดขึ้นจากการหลอมรวมกลุ่มกิจกรรมในระดับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของนโยบายโดยมีภารกิจสำคัญคือ สนับสนุนการวิจัย การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการสร้างศักยภาพเครือข่ายในด้านการเจรจาต่อรองโดยสันติวิธี รวมถึงเครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่ชุมชน สสส. เล่าว่า ความคาดหวังของการเป็นจังหวัดน่าอยู่ก็คือ เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี ตอบสนองความต้องการของคนในสังคม และก่อให้เกิดการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ อีก 2 แห่ง ซึ่งในปีนี้ สสส. จะประกาศจังหวัดน่าอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง โดยเริ่มที่จ.นครศรีธรรมราช เป็นแห่งแรก
จุดเด่นของการประกาศตัวให้เป็นจังหวัดน่าอยู่ที่สำคัญย่างหนึ่ง นั่นคือ การทำงานร่วมกันในเชิงนโยบาย ของคน 4 กลุ่มที่สำคัญ อย่าง ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาควิชาการ เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายที่สำคัญให้คนเมืองนครมีความสุข
หลักการทำงานร่วมกันของทั้ง 4 ฝ่ายนี้
ผู้ว่าเมืองนคร กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทำงานให้คนสำราญงานสำเริง ต้องมาจากการทำงานให้มีความสุข นั่นคือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วันนี้จึงมีการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐชระชาชน องค์กรกครองท้องถิ่น และภาควิชาการ ทั้งหมดก็เพื่อความสุขของคนเมืองนคร”
เพราะหากทุกจังหวัดส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในทุกพื้นที่โดยเน้นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับชีวิต จิตใจ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพอย่างเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจพอเพียง สมดุล และเป็นสุข นั่นเอง
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update: 04-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่