เมื่อลูกเริ่มเป็น “ผีพนัน” หน้าใหม่

ทำอย่างไรให้เลิกเดิมพัน? 

 

เริ่มไปได้หลายวันแล้วสำหรับ ฟุตบอลโลก 2010 และก็ถือเป็นความโชคดีของแฟนฟุตบอลชาวไทยที่จะได้ชมการถ่ายทอดสดในทุกนัดของการแข่งขัน แต่ในความโชคดีเหล่านั้น…กลับแฝงไปด้วยอาชญากรตัวร้ายอย่าง ผีพนัน ที่คอยจ้องจะเข้าสิงเหล่าบรรดาแฟนฟุตบอลที่คลั่งไคล้การเสี่ยงโชคหรือหวังรวยทางลัด โดยเฉพาะเยาวชนที่ไร้เดียงสา…

เมื่อลูกเริ่มเป็น “ผีพนัน” หน้าใหม่ 

หากปล่อยไว้เช่นนี้ อนาคตของชาติคงต้องตกเป็นทาส ผีพนันจนทำให้เสียผู้เสียคน หมดเนื้อหมดตัว หมดอนาคตไปตามๆ กันเป็นแน่ นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาที่จะตามมาอย่าง ชกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่า เหตุเพราะต้องการทรัพย์สินไปเล่นพนันหรือติดหนี้อีกต่างหาก ถึงแม้หลายคนอาจพูดว่าไม่เป็นไร เพราะฟุตบอลโลกมีแค่เดือนเดียวเอง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า…ยังคงมีฟุตบอลในลีกต่างๆ อีกมากมายให้เลือกเล่นพนันได้กันแทบตลอดทั้งปี คงไม่ต้องคิดเลยว่าอนาคตของชาติเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรต่อไปหากไม่รีบแก้ไข…

 

ทางออกที่ดีที่สุด…ที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นลงได้ คงหนีไม่พ้น ด่านแรกที่สำคัญอย่างครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องคอยสอดส่องดูแลลูกเป็นพิเศษ ว่าลูกของตนเอง มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดพนันหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมที่เข้าข่าย ว่าอาจตกเป็นทาสการพนันนั้น พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้กล่าวไว้ว่า เด็กที่เสี่ยงว่าจะติดพนันบอลนั้น จะมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนว่าจะปกปิดซ่อนเร้น ดูห่างเหินออกจากครอบครัว สนใจผลฟุตบอลมากเป็นพิเศษ หรือแม้กระทั่งติดตามดูในทุกคู่การแข่งขัน ติดต่อสื่อสารกับบุคคลแปลกหน้าหรือคลุกคลีกลุ่มคนที่ยุ่งเกี่ยวกับการพนันบอล แม้กระทั่งใช้เวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ตหรือร้านเกมเป็นเวลานานๆ รวมถึงบางรายอาจมีอาการเครียด หรือฉุนเฉียวให้เห็นมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของเด็กที่เสี่ยงต่อการติดพนันบอลแทบทั้งสิ้น…

 

            แต่ทุกปัญหาต้องมีทางออกเสมอ พญ.อัมพร ได้กล่าวต่อว่า การที่จะพูดห้ามปรามไม่ให้เด็กหรือเยาวชนเล่นพนันบอลอย่างเด็ดขาดนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุด คือความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาพูดคุยกับลูกมากขึ้น ถ่ายทอดคำแนะนำ คำสอนต่างๆ ที่ดีให้แก่เด็ก รวมถึงชี้ให้เห็นคุณค่าของเกมกีฬา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยนั้นคือ การทำให้เห็นถึงโทษของการเล่นพนันให้มากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กซึมซับและเข้าใจในที่สุด…

 

            หากในกรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมติดพนันบอลหรือจับได้ว่าเล่นพนันแล้ว ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ควรที่จะดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษเด็กอย่างรุนแรง เพราะจะส่งผลถึงสภาพจิตใจของเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดอาการก้าวร้าวหรือหวาดกลัวจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และมีแนวโน้มที่จะหันกลับไปเล่นพนันอีก

 

แนวทางในการช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น อันดับแรกต้องสื่อสารให้เขาตระหนักและรู้ว่าตัวเองกำลังทำผิด พูดคุยเพื่อหาเหตุผลถึงสาเหตุที่ทำให้หันไปเล่นการพนัน

 

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า เด็กถือเป็นไม้อ่อนที่สามารถดัดได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้วิธีดัดไม้อ่อนเหล่านั้น ด้วยการเน้นทำความเข้าใจกับตัวเด็ก แสดงให้เด็กเห็นถึงความห่วงใยที่มี ทำให้รู้ว่าพ่อแม่คือที่ปรึกษาของเขา พูดคุยหว่านล้อมให้เด็กบอกถึงรายละเอียดทั้งหมด ว่าเล่นพนันไปถึงขั้นไหน เล่นกับใคร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้มาร่วมกันหาทางออก…

 

บางรายก็อาจมีการลงโทษ แต่ก็จำเป็นต้องให้อยู่ในความเหมาะสม เช่น อาจมีการหักเงินค่าขนม เพิ่มงานภายในบ้านให้มากขึ้นจากเดิมที่ทำอยู่ เพื่อให้เด็กทราบว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดและไม่หันกลับไปทำอีกต่อไป พญ.อัมพร กล่าว

 

มาถึงจุดนี้สามารถตอบโจทย์สำคัญได้อย่างชัดเจนว่า ครอบครัวคือกุญแจสำคัญ ที่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในสังคมได้เกือบทุกปัญหา… เมื่อความรักความเข้าใจเกิดขึ้นในครอบครัว เด็กมีต้นทุนชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะปัญหาใดๆ ก็จะสามารถฝ่าฟันและผ่านเรื่องไปได้อย่างง่ายดาย!!

 

 

 

 

 

ที่มา : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update:18-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code