เมื่อฟุตปาธเต็มไปด้วยป้าย-หาบเร่-แผงลอย

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เมื่อฟุตปาธเต็มไปด้วยป้าย-หาบเร่-แผงลอย thaihealth


เคยหรือไม่ที่ต้องลงมาเดินบนถนนให้เสี่ยงต่อการถูกรถชน ทั้งที่มี "ฟุตปาธ" หรือทางเท้าให้เดิน แต่ไม่สามารถเดินได้ เพราะเต็มไปด้วยหาบเร่ แผงลอย รถที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า


รวมไปถึงร้านค้าที่รุกล้ำพื้นที่ออกมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เรากำลังถูกละเมิดสิทธิในการใช้ทางเท้าที่เป็นทางสาธารณะอยู่หรือไม่ โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ แผงลอยบริเวณสยาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงมีนโยบายในการจัดระเบียบทางเดินเท้า เพื่อคืนทางเดินสัญจรให้แก่ชาวกรุง แต่ปัญหาสิทธิในทางเดินเท้าไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ภายใน กทม.เท่านั้น เพราะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง ซึ่งในงานประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่5 เมื่อเร็วๆ นี้ จัดโดย สสส. มีการนำเสนอผลวิจัยเรื่อง "สิทธิของคนเดินเท้าบนทางสัญจรในเขตเมือง" โดยศึกษาพื้นที่เขตเมืองบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ พบว่า อุปสรรคต่อการเดินเท้า และความปลอดภัยในการเดินเท้าบนทางสัญจรในเขตเมือง มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง


โดย นายฟ้าประทาน เติมขุนทด อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะผู้วิจัย กล่าวว่า ในแง่อุปสรรคต่อการเดินเท้าบนทางสัญจรในเขตเมือง มีการประเมิน 11 เรื่อง คือ 1. ป้ายโฆษณาบนทางเท้า 2. ป้ายบอกทางเท้า 3. ร้านอาหารบนทางเท้า 4. ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยบนทางเท้า 5. การขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า 6. การขับจักรยานบนทางเท้า 7. พื้นผิวทางเท้าขรุขระ 8. ขยะและสิ่งปฏิกูลบนทางเท้า 9. การจอดรถบนทางเท้า 10. ต้นไม้ต้นหญ้าที่รกรุงรังบนทางเท้า และ 11. บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางเท้า โดยผลการวิจัยพบว่า ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และเทศบาลเมืองสุรินทร์ พบปัญหาเหมือนกันคือ ปัญหาพื้นผิวทางเท้าขรุขระ และปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลบนทางเท้าในระดับ "มาก" ส่วนปัญหาอื่นๆ พบอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ พบปัญหาพื้นผิวทางเท้าขรุขระ ขยะและสิ่งปฏิกูลบนทางเท้า และการจอดรถบนทางเท้าในระดับ "มาก" ปัญหาอื่นๆ อยู่ระดับปานกลาง


เมื่อฟุตปาธเต็มไปด้วยป้าย-หาบเร่-แผงลอย thaihealth


"ส่วนการประเมินด้านความปลอดภัยในทางเดินเท้า พิจารณาใน 7 เรื่องคือ 1. ทางเท้าไม่มีไฟส่องสว่างในเวลาค่ำคืน 2. เสี่ยงต่อการเดินชนป้ายโฆษณา 3. พื้นผิวทางเท้าขรุขระเป็นหลุมเสี่ยงต่อการหกล้ม 4. พื้นผิวทางเท้ามีน้ำท่วมขัง เสี่ยงต่อการลื่นล้ม 5. เสี่ยงต่อการถูกจักรยานยนต์เฉี่ยวชนบนทางเท้า 6. เสี่ยงต่อการเดินชนพ่อค้าแม่ค้าที่วางขาย และ 7. เสี่ยงติดเชื้อโรคหรือการเปรอะเปื้อนขยะ ซึ่งการวิจัยพบว่า ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์พบปัญหาทางเท้าไม่มีไฟส่องสว่างเวลาค่ำคืน พื้นผิวขรุขระเสี่ยงหกล้ม และเสี่ยงติดเชื้อโรคหรือเปรอะเปื้อนขยะในระดับมาก ปัญหาอื่นอยู่ระดับปานกลาง ด้านเทศบาลเมืองสุรินทร์พบปัญหาคล้ายกัน คือ ไม่มีไฟส่องสว่างเวลาค่ำคืน พื้นขรุขระเสี่ยงหกล้ม น้ำท่วมขังเสี่ยงลื่นล้ม และเสี่ยงติดเชื้อโรค ในระดับมาก อย่างอื่นระดับปานกลาง ขณะที่เทศบาลเมืองศรีสะเกษ พบเพียงปัญหาพื้นขรุขระเสี่ยงหกล้มและเสี่ยงติดเชื้อโรคเท่านั้นที่อยู่ในระดับมาก" นายฟ้าประทาน กล่าว


นายฟ้าประทาน ระบุว่า สำหรับนโยบายที่อยากให้มีเพื่อส่งเสริมทางเดินเท้า ผลวิจัยพบว่า ทั้ง 3 พื้นที่ต่างอยากให้มีนโยบายการออกระเบียบควบคุมการขายสินค้า การออกระเบียบควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ การออกระเบียบควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณา การพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินเท้าให้มีความสะดวก และการส่งเสริมมารยาทในการเดินเท้าแก่ประชาชน ในระดับ "มาก" มีเพียง "การจัดทำทางเดินเท้าที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่ง" เท่านั้นที่ชาวเทศบาลเมืองบุรีรัมย์อยากให้มีในระดับมาก ส่วนสุรินทร์และศรีสะเกษอยากให้มีในระดับปานกลาง


แต่ละพื้นที่เรียกได้ว่ามีปัญหาเรื่องการใช้ทางเดินเท้าที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ปลีกย่อยของปัญหาอาจมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ส่วน กทม.แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน แต่ปัญหาอาจไม่หนีจากกันสักเท่าไร ดังนั้น หาก กทม.ต้องการจัดระเบียบทางเดินเท้า นอกจากจัดการเรื่องหาบเร่ แผงลอย การขับรถบนทางเท้าแล้ว ยังต้องคำนึงเรื่องของความปลอดภัยต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องไฟส่องสว่างยามค่ำคืน ป้ายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดิน รวมไปถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการเดิน ทั้งพื้นผิวทางเดิน การทิ้งขยะต่างๆ โดยอาจมีการออกนโยบายต่างๆ มารองรับ จึงจะเป็นการคืนสิทธิในทางเท้าและสนับสนุนให้ประชาชนหันกลับมาเดินมากขึ้นด้วยความปลอดภัยอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code