เมื่อผู้ใหญ่โยนผิดให้เด็ก สังคมไทยมีแต่ผู้ใหญ่ดื้อ

ใครกันที่ดือแท้จริง

 

เมื่อผู้ใหญ่โยนผิดให้เด็ก สังคมไทยมีแต่ผู้ใหญ่ดื้อ

          ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผู้ใหญ่มักจะมองเห็น ความผิดของเด็กมากกว่า ความผิดของตัวเอง ดังเช่น เด็กกินจุ ก็หาว่า เด็กตะกระ แต่ พอผู้ใหญ่กินจุ กลับมองว่า ผู้ใหญ่เจริญอาหาร ความทัดเทียมกันระหว่าง ผู้ใหญฯกับเด็ก จึงเหลื่อมกันมา นับหลายศตวรรษแล้ว

 

          ล่าสุด ได้มีการ พูดกันอย่างเอาจริงเอาจังถึง การเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก โครงการ เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋ ที่บรรดา พ่อแม่ และนักวิชาการ พากัน เสวนา บอกเล่าให้ สังคม และ ผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวได้ตระหนักรู้ว่า “สังคมไทยวันนี้ เด็กดื้อไม่มี ที่มีอยู่คือ ผู้ใหญ่ดื้อ” ซึ่ง โครงการนี้จะเป็นอย่างไร “ปานมณี”จะสาธยายให้ทราบ

 

          แต่ตอนนี้ขอบอกข่าวที่เขียนไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว ถึงเรื่อง “มหกรรม ลดพุง คนกรุงเทพฯครั้งที่ 1 ให้รับทราบกันเสียหน่อยว่า คนจัดงานเขาเลื่อนวันออกไป ดัง ข้อความที่เขา เขียนส่งมาให้ ปานมณี รับรู้ ดังต่อไปนี้

 

          ตามที่ กทม. เครือข่ายคนไทยไร้พุง และ สสส. จะมีการจัดงาน “มหกรรม ลดพุง คนกรุงเทพ ครั้งที่ 1″ในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 52 ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากทางคณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กทม.ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. – 14 ธ.ค. ทำให้ต้องมีการเลื่อนจัดงานมหกรรมนี้ออกไป และถ้ามีกำหนดการและสถานที่แน่นอนจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

          ต่อไปนี้ เราก็มาพูดถึง เรื่องของ เด็กดื้อ และ ผู้ใหญ่ดื้อกันดีกว่า เพราะอย่างน้อย นอกจากจะเป็นกำลังใจให้กับเด็กไทยแล้ว ยังเป็นการ สะกิดบอกบรรดาผู้ใหญ่ที่ชอบ โยนความผิดไปให้เด็กๆได้ ตระหนักอายเอาไว้บ้าง

 

          เรื่องเกิดขึ้น เมื่อ สสส. ได้มีการเชื้อชวนให้เปิดพื้นที่ทางใจให้โจ๋ไทย โดย ชูสโลแกนว่า “เด็กดื้อไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่ดื้อ” ซึ่ง สโลแกนนี้เป็นจุดเด่นในการเสวนา เรื่อง “เข้าถึง เข้าใจ… หัวใจเด็กดื้อยุค 3 G” ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวโครงการ “เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋” ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

          บนเวที เสวนานั้น นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยปี 2552 ที่พบว่าเยาวชนไทยที่อายุระหว่าง 15 – 24 ปี มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับวัยอื่น ๆ และ หนึ่งในสามของเยาวชนไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น นอกจากนี้ เยาวชนยังเป็นกลุ่มอายุที่มีความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นน้อยที่สุดอีกด้วย

 

          ดร.จรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บอกให้ทราบถึงปัจจัย 4 อย่างที่วัยรุ่นจะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งจะประกอบด้วย การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ การศึกษา พันธุกรรม หมายถึงสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อม เช่น อินเตอร์เน็ต สื่อต่างๆ และแถมท้ายด้วยว่าตัวของวัยรุ่นเอง ก็ต้องสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ค้นหาตัวเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง

 

          ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ว่า เด็กดื้อไม่ใช่ปัญหา หากดื้ออยู่ในขอบเขต และการดื้ออยู่ในขอบเขตอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนทางสังคมในทางที่ดีขึ้นด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกิดจากผู้ใหญ่และเด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่แวดล้อมซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้มี 2 มิติ 1) ผู้ใหญ่ที่ห้ามเด็ก เพราะไม่ถูกใจ ผลที่ตามมาในกลุ่มนี้คือเด็กจะแอบทำ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รับผิดชอบสังคม 2) ผู้ใหญ่ที่ตามใจเด็ก เพราะถูกใจ ผลที่ตามมาคือเด็กโตขึ้นจะเป็นคนตามใจตัวเอง

 

          หากเด็กอยากดื้อก็ให้ดื้ออยู่ในกติกา เด็กทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เด็กต้องมีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็จะมีแต่ผู้ใหญ่มีเสรีภาพแต่ไม่มีความรับผิดชอบ เด็กที่ถูกห้ามตลอดเวลาโตขึ้นอาจกลายเป็นเสียตัว เสียคน เสียชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้เด็กมีเสรีบนความรับผิดชอบ และสังคมที่แย่ทุกวันนี้เพราะทุกคนโทษแต่คนอื่น ไม่ได้คิดแก้ปัญหาที่ตัวเอง

 

          นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา ตัวอย่างของ เด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาเล่าขานให้รับทราบกันอีก 2 คน คือ โทนี่รากแก่น ที่ เล่าว่าชีวิตส่วนใหญ่อยู่ประเทศออสเตรเลีย อยู่กับพี่สาว เพิ่งกลับมาเมืองไทยได้ปีกว่า ตอนอยู่ต่างประเทศลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และเต๊ะ ศตวรรษ ที่เล่าถึงช่วงต่อของชีวิต ที่ต้องเข้าไปทำงานใน ไต้หวัน ที่มายืนอยู่ในจุดนี้ได้เพราะความมีอิสระทางความคิดในครอบครัวที่ให้มาพร้อมกับการช่วยประคองจากพ่อแม่

 

          โครงการนี้ได้คัดเลือกพื้นที่ 20 จังหวัดจากทั่วประเทศ จัดอบรมเยาวชนจำนวนรวม 1,200 คน ในเทคนิคผลิตวิดีโอคลิปเพื่อสะท้อนภาพชีวิตและมุมมองของเยาวชน พร้อมเปิดรับผลงานวิดีโอคลิปความยาว 1-3 นาที จากผู้มีอายุระหว่าง 13-17 ปี หรือกำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า จากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมประกวดแข่งขัน ชิงเงินรางวัลรวม 1 แสนบาท ผู้สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dekdue.com ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2553 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สุรางค์ ศิริมหาวรรณ 098 115 1866 สุนิสา ช่างหลอม 086 085 6433

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

Update: 02-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ