เมื่อฉันเป็นโรคซึมเศร้า

ที่มา : แผ่นพับ เมื่อฉันเป็นโรคซึมเศร้า โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์


เมื่อฉันเป็นโรคซึมเศร้า thaihealth


แฟ้มภาพ


วัยรุ่นควรทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า


ดูแลตัวเอง


  • เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองให้ดี กินให้พอ นอนให้พอ เพราะคนซึมเศร้ามักกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้สภาพร่างกายอ่อนเพลีย และอารมณ์จะแย่ตาม
  • แต่บางคนอาจกินหรือนอนมากไป ซึ่งจะทำให้อารมณ์แย่ลงได้เช่นเดียวกัน ควรกินนอนพอดี ๆ ให้เป็นเวลา


หาอะไรทำ


  • อารมณ์เศร้าจะทำให้อยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน แต่สุดท้ายถ้าคุณทำตามอารมณ์ก็จะยิ่งเศร้ามากขึ้น
  • คำแนะนำคือ ให้ฝืนทำกิจกรรมที่ควรทำหรือจำเป็นต้องทำต่อไป แม้จะไม่อยากทำ ให้คิดไว้เสมอว่า “ทำตามแผน อย่าทำตามอารมณ์”
  • ถ้าสามารถเพิ่มกิจกรรมให้ active มากยิ่งขึ้นกว่าปกติได้ยิ่งดี เช่น ออกกำลังกาย จัดห้อง เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน กลับไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ การทำตัวให้กระฉับกระเฉงเป็นวิธีต้านอารมณ์เศร้าที่ดีมาก และทำให้หายจากโรคซึมเศร้าได้เร็วขึ้น


พบจิตแพทย์


  • การไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนเราป่วยกายก็ไปหาหมอตรวจร่างกาย ถ้าจิตใจไม่สบายก็ไปให้จิตแพทย์รักษา
  • เริ่มแรกจิตแพทย์จะพูดคุย รับฟัง แนะนำการปฏิบัติตัวให้คุณและพ่อแม่ฟัง แล้วนัดมาดูอาการบางครั้ง โรคซึมเศร้าสามารถหายเองได้เพียงแค่ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม


ยาต้านเศร้า


  • ยาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองของคุณให้กลับสู่สมดุลภายใน 2-4 เดือน ควรกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดกินยาเองแม้จะอาการดีขึ้นแล้ว
  • ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า การหยุดกินยาเร็วเกินไปจะทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำเพิ่มขึ้น
  • ​ถ้ากินยาแล้วมีผลข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยา เพราะยามีหลายชนิด ถ้ากินยาแล้วไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงมากเกินไป แพทย์อาจปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนชนิดยาให้เหมาะสมกับตัวเรา แต่ไม่ควรหยุดกินยาไปเองเฉย ๆ แพทย์อาจให้ยาต่อเนื่องถึง 6-12 เดือน หรือนานกว่าเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ


จิตบำบัด


  • แพทย์อาจให้คุณทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งก็คือการไปนั่งคุยกัน เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจตัวคุณเอง และหาวิธีจัดการอารมณ์ความรู้สึกในใจของคุณให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื้อหาในการพูดคุยจะถือว่าเป็นความลับ


พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ


  • การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะช่วยให้คุณได้ระบายความรู้สึก ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว ลองนึกดูว่าคุณคุยกับใครได้บ้าง อาจจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ พี่ น้อง ครูอาจารย์ หรือเพื่อนที่เข้าใจ การพูดคุยจะทำให้เราได้แบ่งปันความรู้สึกกัน ได้รู้ว่าไม่ได้มีแต่เราที่ทุกข์อยู่คนเดียว นอกจากนี้คนอื่นอาจมีวิธีแก้ปัญหาดี ๆ ที่เรานึกไม่ถึงแนะนำให้คุณก็ได้ (อย่าลืมว่าเวลาซึมเศร้าเราจะคิดอะไรไม่ค่อยออกเหมือนตอนปกติ)
  • ถ้าคุณไม่รู้จะคุยกับใครลองนึกถึงบริการทางสุขภาพจิตที่คุณสามารถโทรไปปรึกษาได้ฟรี เช่น สายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323


นึกไว้เสมอว่า การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่ความผิด คุณไม่ได้อยากเป็นโรคนี้ แต่คุณสามารถสู้และหายจากโรคได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ