เมื่อคนรักซึมเศร้า

ที่มา: โพสต์ทูเดย์


เมื่อคนรักซึมเศร้า thaihealth


แฟ้มภาพ


ถ้าคนใกล้ ๆ ตัว มีภาวะซึมเศร้า คุณคือคนที่ต้องเข้มแข็ง คุณคือคนที่ต้องใช้ความพยายาม และคุณคือคนที่ต้องรับฟัง เรื่องความซึมเศร้าของคนใกล้ตัว ถือเป็นเรื่องที่เกิดกันได้กับใครก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นบางครั้งก็ร้ายแรงและรุนแรงกระทั่งกระทบถึงความสัมพันธ์ที่ถึงขั้นต้องล้มเลิกหรือมากกว่านั้น


ทว่าเรามีเรา เมื่อเกิดขึ้นกับเราหรือคู่ของเรา ก็นี่แหละที่จะช่วยเหลือกัน


ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามักเป็นคนที่มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอความกดดันต่างๆ เช่น การงาน การเรียน ความรัก ก็อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ปัจจัยเสี่ยงยังเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม ปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดู หากมีการพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็กก็ทำให้มีแนวโน้มสูง ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย


ทำอย่างไรดีถ้าคนใกล้ชิดมีอาการซึมเศร้า


1.สังเกตความผิดปกติ ที่มาในรูปของความซึมเศร้า รวมทั้งมีอาการเบื่อหน่าย มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ร้องไห้ ไม่ได้ซึมเศร้า แต่มีอาการเซ็ง เบื่อ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีชีวิตชีวา เพื่อนชวนไปไหนก็ไม่อยากไป เบื่อไปหมด ไม่มีความสนุกสนานในใจ เรื่องนี้สำคัญเพราะต้องใช้ความสังเกตล้วน ๆ จากคนใกล้ชิด


2.เมื่อเริ่มจับสังเกตได้ซึ่งอาการซึมเศร้า ก็ให้สังเกตต่อไปว่า นิสัยเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ อาจพูดน้อยลง เงียบลงกว่าเดิม ผอมลง ไม่พูดไม่จา ดูซึมๆ ซึ่งช่วงเริ่มแรกที่เป็นอาการ อาจไม่ค่อยสังเกตเห็นนัก แต่เมื่อสะสมมากๆ เข้า อาการจะแสดงชัดเจน อารมณ์ต่าง ๆ จะเหมือนกราฟที่ค่อยๆ ตกลง


3.ในขั้นต้นควรเริ่มด้วยการรับฟัง หลักการสำคัญคือ ฟังให้มาก เพราะส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยจะเริ่มพูด ยังไม่ทันฟังเลย บางทีก็ให้กำลังใจไปว่า สู้ๆ แต่จริงๆ ต้องฟังเขาก่อนว่าเขาจะพูดจะสื่อสารว่าอะไร เป็นการให้เขาได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจ คนเราถ้าได้พูดอะไรออกมา ความเครียดก็จะลดลง


4.แสดงออกถึงความใส่ใจ การใส่ใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจ ตั้งแต่การรับฟังคำพูด พยายามดูแล อย่าวางเฉยหรือทำเป็นไม่ใส่ใจ


5.ถ้าอีกฝ่ายทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์หรือความเศร้านานเกิน 3 เดือน ต้องพาไปปรึกษาแพทย์


6.วิธีป้องกันที่ดี คือ เป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา พูดคุยเพื่อลดความเครียด สำคัญที่สุดอยู่ที่มุมมองของการมองปัญหา ถ้ามีมุมมองที่ดี เลือกที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวความกดดันอย่างสร้างสรรค์ ปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลาย ชี้ชวนกันให้ออกมาจากเรื่องที่ทำให้รู้สึกหดหู่ สร้างและปรับสมดุลในจิตใจ

Shares:
QR Code :
QR Code