ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพขายแรงงานในระบบประกันสังคม 9-10 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24-25 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติอีกมากกว่าล้านคน รวมแล้วเป็นประชากรมากกว่าครึ่งประเทศ ในจำนวนนี้ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ ขณะที่ส่วนน้อยที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ จำนวนหนึ่งใช้เพื่อพิมพ์งานแทนเครื่องพิมพ์ดีด บางรายต่ออินเทอร์เน็ต มีอีเมล แต่ไม่เคยเปิด มีน้อยมากๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์
ชีวิตคนงานส่วนใหญ่ยังมีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ไม่มีเวลาสนใจเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อเกิดปัญหา หนทางที่คนงานนิยมใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้ คือ การระดมพลแสดงพลังโดยการชุมนุม ประท้วง นัดหยุดงาน ภาพการชุมนุม สังคมถือเป็นภาพลบ เป็นภาพที่ทำให้รู้สึกถึงความขัดแย้ง ความรุนแรง คนงานจำนวนมากก็รู้สึกเช่นนั้น และไม่ชอบการชุมนุม แต่พอเผชิญปัญหา…จะให้ทำอย่างไรหละในเมื่อคนงานคิดออกเพียงแค่ “ต้องมากันให้มากๆ จะได้เป็นข่าว” เพื่อทำให้สังคมสนใจ เข้ามาช่วยเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อต้านการเอาเปรียบของนายจ้าง (บางกลุ่ม)
“การจะก้าวข้ามแนวทางการต่อสู้แบบเก่า ต้องอาศัยความคิดใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ หนึ่งในนั้น คือ การสร้างพื้นที่ข่าวเพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนงานสู่สาธารณะ” หลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้ริเริ่มโครงการ “การพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน” ภายใต้การสนับสนุนของ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในสาระสำคัญของโครงการนี้ คือ การทำให้คนงานสามารถผลิตสื่อ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเอง ด้วยตนเอง
แรกเริ่มโครงการยุ่งยากกับการบอกกล่าวให้องค์กรทุนยอมรับว่า “คนงานเขียนข่าวได้” พร้อมกันนั้น โครงการยังต้องพยายามพูดคุยให้พี่น้องคนงานตระหนักถึงความสำคัญของการสละเวลาหลังเลิกงานมาเขียนข่าว นำเสนอเรื่องราวของตนเองในมุมมองใหม่ๆ เพื่อลบภาพลบเก่าๆ เรื่องการชุมนุม ประท้วง นัดหยุดงาน
ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน โครงการสามารถจัดทำ เว็บไซต์ voicelabour.org ที่มีคนงานเขียนข่าวใหม่ๆ มานำเสนอให้เห็นเกือบทุกวัน และมีหนังสือพิมพ์แรงงานวอยซ์เลเบอร์ ออกมาให้เห็นแล้ว 2 ฉบับ ในเดือนธันวาคม 2553 และมกราคม 2554 รวมถึงสนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลเวทีสมัชชาแรงงานเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมสนับสนุนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ในการเปิดประชุมสภาฯ 21 มกราคมนี้
ด้วยความรวดเร็ว หลังเวทีสมัชชาเพียงวันเดียว voicelabour.org ได้นำเสนอคำกล่าวเปิดของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามด้วยอีกหลายข่าวที่เขียนโดยคนงานในวันถัดๆ มา อาทิเช่น “20 คมคิด 20 ปีประกันสังคม” “แรงงานเสนอ ปกส. บัตรเดียวใช้ทุก รพ. อิสระ โปร่งใส” ฯลฯ
ท่วงทำนองใหม่ในการนำเสนอตัวเองของคนงาน ผ่านการผลิตสื่อของโครงการดังกล่าว นับเป็นย่างก้าวสำคัญของขบวนการแรงงานปัจจุบัน และอาจจะเป็นย่างก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในอนาคต แต่…สิ่งที่เราคาดหวังให้ไปไกลกว่านั้น คือ ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน ที่ต้องการผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ มีระบบบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เฉกเช่นอารยประเทศทั้งหลาย
หลายปีก่อน เราได้ไปดูหน่วยบริการขององค์กรอย่าง สำนักงานประกันสังคมในยุโรป ผ่านประตูเข้าไป ด้านซ้ายเป็นมุมให้คำปรึกษา (โดยนักจิตวิทยา) ด้านขวาเป็นมุมหนังสือ โถงกลางห้องตั้งคอมพิวเตอร์นับสิบเครื่อง ทุกคนเข้าไปใช้ได้ ส่งอีเมลได้ และ…สามารถค้นหาข้อมูล/หาตำแหน่งงานได้ด้วยตนเอง คนงานในยุโรปเค้าใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นทุกคน ชั้นสองเป็นหน่วยบริการที่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ถัดขึ้นไปอีกชั้นเป็นห้องประชุม โดยรวมมีพื้นที่ใช้สอยขนาดเดินไม่ทันเหนื่อยก็ทั่วแล้ว
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนั้นในสังคมไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ศิริพร ยอดกมลศาสตร์