เมืองในฝัน เมือง 3 ดี วิถีสุข
ที่มา : ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม โดย อาจารย์เกศินี จุฑาวิจิตร
ภาพจากศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม
เมืองสื่อสร้างสรรค์ จะต้องเป็นเมืองแห่งวิถีสุขภาวะ ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งด้วยปัญญาที่เข้าถึงความดี ความงามและความจริง
การสร้างเมืองสื่อสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลหรือชุมชนเล็กๆ ต้องเริ่มด้วยหลักการ 3 ดี อันประกอบด้วย 1) สื่อดี 2) พื้นที่ดี และ 3) ภูมิดี
สื่อดี จึงเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับทุกคน นั่นหมายความว่า ผู้คนจะได้รับและได้ใช้สื่อที่เหมาะสมกับการพัฒนาในแต่ละช่วงวัย ทั้งเด็ก เยาวชน และครอบครัวมีโอกาสเข้าสื่อดีได้ โดยไม่จำกัดโอกาส เวลา และสถานที่ “สื่อ” ในที่นี้ หมายถึง สื่อทุกประเภท ทั้งสื่อมวลชน สื่อท้องถิ่น สื่อพื้นบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น และสื่อใหม่
พื้นที่ดี พื้นที่สร้างสรรค์ หรือพื้นที่สุขภาวะ หมายถึง พื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบและ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่บุคคล ครอบครัวและชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เสริมพลังซึ่งกันและกัน “พื้นที่ดี” ในที่นี้ อาจเป็นได้ทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ทางกายภาพและพื้นที่สร้างสรรค์ทางความคิด
พื้นที่สร้างสรรค์ทางกายภาพ หมายถึงพื้นที่สาธารณะที่มีความปลอดภัย เป็นพื้นที่ที่จัดให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือใช้ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นประจำ เช่น การจัดสวนหย่อมให้เป็น “พื้นที่ออกกำลังกาย” การจัดลานวัดเป็น “ลานแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม” การจัดสนามกีฬาให้เป็น “ตลาดนัดอาหารปลอดภัย” การจัดห้องสมุดของโรงเรียนให้เป็น “แหล่งเรียนรู้โลกกว้าง” ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดด้านโอกาสและเวลา เป็นต้น
พื้นที่สร้างสรรค์ทางความคิด หมายถึง การจัดให้มีเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนทางความคิด ทั้งอย่างเป็นทางการ เช่น การประชุมหารือเป็นวาระประจำ และอย่างไม่เป็นทางการ เช่น สภากาแฟ เป็นต้น เพื่อให้บุคคลหลากหลายกลุ่ม เพศ วัย ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองหรือในชุมชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอันเอื้อต่อความสุขและการพัฒนาในแต่ละช่วงวัยของทุกคน
ภูมิดี หมายถึง ภูมิปัญญาในการฉลาดรู้เรื่องสื่อ ซึ่งหมายถึงการเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม มีทักษะในการคิด วิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ อันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชนในการป้องกันภัยรอบด้านและสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คำว่า “ภูมิดี” ยังหมายรวมถึง การใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชน ในการมีส่วนร่วมปกป้องดูแลและสร้างชุมชนร่วมกัน
การมี “สื่อดี” ก็เหมือน “ต้นน้ำ” ที่ไปทำให้เกิดกระบวนการของการจัดการด้าน “พื้นที่” ในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ จนทำให้เกิด “พื้นที่ดี” อันเปรียบได้กับกลางน้ำ และท้ายที่สุด ทั้งสื่อดีและพื้นที่ดีก็ทำให้ผู้คนมีภูมิปัญญาที่เป็นดั่งภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปสู่อบายทั้งปวง ซึ่งเปรียบได้กับ “ปลายน้ำ”
ในทางกลับกัน การที่บุคคลและชุมชนมีภูมิปัญญาและภูมิคุ้มกันที่ดี พวกเขาก็จะเป็น “นวัตกร” หรือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ทำให้เกิด “สื่อดี” และ “พื้นที่ดี” ต่อไป
เมืองสื่อสร้างสรรค์ จะต้องรองรับความต้องการการสื่อสารและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายของคนทุกกลุ่ม ทุกประเภทครอบคลุมทั้ง 3 วัย คือ เด็กและเยาวชน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ คนทั้งสามวัยสามารถที่จะสื่อสารกันเองได้เป็นอย่างดี มีโอกาสในการเข้าถึงสื่อดี พื้นที่สร้างสรรค์ และเจริญปัญญาได้ตามความต้องการ ความถนัดและความสนใจ
ทุกคนเป็นพลังในการสร้างเมืองสื่อสร้างสรรค์ได้ โดยการสร้างร่วมสร้าง/ เสพ/ แชร์/ สนับสนุนสื่อดีและพื้นที่สีขาว