เมืองดีต่อใจ สร้างได้ วัยเกษียณสำราญ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งาน เวทีสาธารณะ เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ  ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ 1 ต.ค. 2566

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12.69 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของประชากรไทย ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี พ.ศ. 2573 โดยครองสัดส่วนประชากรสูงถึงร้อยละ 28 จากการมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

                    จากข้อมูลสำนักทะเบียนกลางข้างต้น ยังพบว่า…ในจำนวนผู้สูงอายุ 12.69 ล้านคน ร้อยละ 12 ต้องอยู่อาศัยอย่างโดดเดี่ยว และอาศัยเพียงลำพังกับคู่สมรสอีกร้อยละ 21.1 นับเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาวะหลากมิติ อาทิ โรค NCDs, การขาดพื้นที่ทำกิจกรรม, ที่อยู่อาศัยไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ไม่ปลอดภัย รวมถึงรายได้หลังเกษียณที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะข้อหลังสุด พบมากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว

                    การพัฒนาระบบเมือง คือกุญแจสำคัญในการสร้างสุขภาวะวัยเกษียณที่ดี เพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสานพลัง ภาคีเครือข่ายฯ แลกเปลี่ยนแนวคิด ถอดบทเรียนจากเมืองตัวอย่าง สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ ผ่านเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ”

                    “…ปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากการมีระบบรองรับสังคมสูงวัยที่ไม่เพียงพอ และขาดการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ…”

                    นางภรณี  ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวภายในงานเวทีสาธารณะ เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา

                    “เมืองสุขภาวะยั่งยืน ที่รองรับสังคมสูงวัยได้ ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุได้ 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หนุนเสริมการเตรียมความพร้อมต่อการเป็นผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมา สสส. สร้างนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 มิติ ของผู้สูงอายุอย่างมากมาย อาทิ ระบบคัดกรองดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม, การพัฒนาทักษะเพื่อหาอาชีพใหม่ในการสร้างรายได้, สร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ในการรับมือสังคมสูงวัย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงหนุนเสริมงานวิชาการด้านการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคนอีกด้วย” นางภรณี กล่าว

                    สอดรับกับ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกวัย “กรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมเมืองดีต่อใจวัยเกษียณ ผ่านนโยบายเร่งด่วน 4 ประเด็น คือ 1. พัฒนาสวัสดิการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่วัยเด็ก 2. การสร้างสังคมเอื้ออาทรต่อกัน สร้างความรู้ให้คนในชุมชนมีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ 3. เสริมความรู้ พลังชีวิต เตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ 4. ส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีทักษะ สามารถนำประสบการณ์มาต่อยอดเพื่อการสร้างรายได้ และภูมิปัญญาให้สังคม

 

                    ภายในงานยังมีการถอดบทเรียนจากเมืองตัวอย่างในการสร้างเมืองที่ดีต่อใจวัยเกษียณ อีก 4 เมือง คือ กรุงเทพฯ, จ.สงขลา, รังสิต จ.ปทุมธานี และ อบต.ท่างาม จ.สิงห์บุรี สรุปให้เห็น ดังนี้

                    กรุงเทพมหานคร ฉายภาพให้เห็นการขับเคลื่อนงานคุณภาพชีวิตใน 4 มิติ สุขภาพ -เศรษฐกิจ- สังคม และเทคโนโลยี เริ่มจาก มิติสุขภาพ เช่น การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกายและใจ การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน การเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19, มิติเศรษฐกิจ เช่น การสร้างหลักประกันที่มั่นคงของรายได้ ส่งเสริมการออม จัดอบรมเพื่อสร้างรายได้, มิติสังคม สภาพแวดล้อม เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุการพลัดตก หกล้ม และ มิติเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาระบบสื่อสารและนวัตกรรมผู้สูงอายุ พัฒนาระบบหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง เพื่อส่งเสริมบริการสาธารณสุขและสังคม โดยนำร่องการดำเนินงานแล้วในพื้นที่ ดินแดง ภาษีเจริญ และวังทองหลาง

                    รังสิต จังหวัดปทุมธานี ภายใต้ชื่อรังสิตโมเดล” ทำให้เห็นเมืองที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงวัย ที่มีผลงานออกแบบปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อการรองรับผู้สูงอายุ และผู้พิการในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ซึ่งเป็นความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ปรับปรุงบ้านและสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในแนวคิดออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพื่อให้ผู้สูงอายุและคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง เข้าใจ และใช้ชีวิตในสังคมและสภาพแวดล้อมได้อย่างครอบคลุม

                    จังหวัดสงขลา บนแนวทางการสร้างคุณภาพชีวิตในมิติของเทคโนโลยีเป็นหลัก กับแอปพลิเคชัน iMed@Home จัดการข้อมูลผู้สูงอายุที่ร่วมสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน รวมถึงกลุ่มเปราะบางรายบุคคล สามารถส่งเสริมการทำงานด้านฐานข้อมูลของภาคประชาสังคม และ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และยังมีระบบเยี่ยมบ้านแบบเรียลไทม์และเป็นทีมที่ช่วยประเมินสุขภาพ คัดกรองและวัดผลความเสี่ยง เพื่อเป็นรายงานความต้องการสำหรับการช่วยเหลือเป็นรายบุคคลได้อีกด้วย

                    องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม จังหวัดสิงห์บุรี นำเสนอวิธีคิดแบบ Banana Solution หรือ แก้ปัญหาแบบกล้วย ๆ ในภาพรวมเรื่องของเศรษฐกิจกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตสูงวัยให้ผู้มีอาชีพ สร้างรายได้ และมองเห็นคุณค่าในตัวเองด้วยแก้ปัญหาแบบกล้วย ๆ ที่สร้างรายได้จากสินค้าแปรรูปที่หลากหลาย เช่น สินค้าแฮนด์เมด พวงกุญแจ กระเป๋า ที่ผลิตจากกล้วย และการจัดตั้ง กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม 364 วันกับการออมเงินวันละบาท ที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบสวัสดิการที่คุ้มค่า ดูแลตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือตลอดชีวิต

                    และปิดท้ายกันที่ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้ให้นิยามของเมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ ว่า “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ ต้องมีปัจจัย 4 ที่ดี มีการคมนาคม ความปลอดภัย มีพื้นที่ให้คนได้รวมกลุ่ม และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีพื้นที่ให้คนได้ออกกำลังกาย ไม่ติดเตียง ไม่ติดบ้าน ทำให้คนสูงวัยไม่เกิดโรค และ มีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ”

                    สสส. มีความตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสูงวัยในอนาคต ด้วยการเริ่มสร้างเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนสูงวัย เพื่อให้ทุกคน สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่เท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Shares:
QR Code :
QR Code