เมืองจักรยานเริ่มง่ายๆ ที่ตัวเอง
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
สืบเนื่องจากวันที่ 22 กันยายน ของทุกๆปี ถือเป็นวันปลอดรถยนต์หรือที่เรียกว่าวัน “Car Free Day” รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง หวังแก้วิกฤติปัญหาการจราจร ลดภาวะโลกร้อนในเวลานี้
การใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายที่ได้รับความสนใจและได้รับการส่งเสริมทั่วโลกมาช้านาน แต่ในประเทศไทยด้วยสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และการเติบโตสู่ความเป็นสังคมเมืองที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น จนทำให้ความนิยมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันลดลง
ทั้งๆ ที่การขี่จักรยานในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าจะขี่ไปโรงเรียน ขี่ไปทำธุระ หรือไปทำงาน ประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงผู้ขี่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย
“การใช้จักรยานนอกจากจะดึงคนสามวัยออกมาใช้ชีวิตร่วมกันในเรื่องสุขภาพแล้ว ยังเพื่อการเดินทางของชุมชนอีกด้วย เพราะการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และยังลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ได้ออกกำลังกายด้วยสองเท้าปั่น ผลยังช่วยลดต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐได้อีกด้วย”
เป็นความเห็นของ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์” ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันโครงการ 100 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น
“ขอบเขตการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชนในชีวิตประจำวันนั้น คือการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันในระยะทางสั้นๆ ประมาณ 1-3 กิโลเมตร แต่ไม่ได้หมายถึง การใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกาย นันทนาการ การท่องเที่ยว หรือเพื่อการแข่งขันเพียงเท่านั้น”
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย อธิบายว่า การสร้างชุมชนจักรยานนั้น ควรประเมินความพร้อมของพื้นที่ก่อน อาทิ การทราบจำนวนและปริมาณผู้ใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันในชุมชน โดยเฉพาะการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น ปั่นไปตลาด ไปโรงเรียน ไปทำธุระในเมือง เป็นต้น
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือชุมชนควรมีการจัดกายภาพให้เอื้อต่อการใช้จักรยานหรือมีพื้นที่สีเขียว โดยวิเคราะห์รูปแบบผังเมือง อาจมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมือง เพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน
รวมถึงการจัดการด้านความปลอดภัยในชุมชน เช่น จำกัดความเร็วที่ 30 กม.ต่อชม.ในเขตชุมชน บริเวณหน้าโรงเรียน ย่านการค้าพาณิชย์ เป็นต้น ที่สำคัญในการจะขับเคลื่อนเมืองจักรยานไปให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น ชุมชนต้องเข้าใจบริบทของแต่ละท้องถิ่น ว่าการเป็นชุมชนจักรยานท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันไป
ปิดท้ายกันที่เคล็ดลับดีๆ ของการปั่นจักรยาน เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ จากนิตยสาร SOOK โดย สสส. ประกอบไปด้วย
1.ดีต่อการลดน้ำหนัก
การปั่นจักรยานถือเป็นแอโรบิกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดี โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนส และการปั่นจักรยานเพียง 1 ช.ม. สามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 600 แคลอรี่ นอกจากนี้ร่างกายของคนที่ปั่นจักรยานเป็นประจำจะสามารถเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้อย่างต่อเนื่อง
2.ดีต่อหัวใจ
หากปั่นจักรยานอย่างต่อเนื่องจะทำให้หัวใจแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือด ทำให้ไขมันที่จับอยู่ตามเส้นเลือดถูกกำจัดออกไป จึงป้องกันภาวะเส้นเลือดตีบตันได้
3.ดีต่อจิตใจ
พอร่างกายได้ออกกำลังกายก็จะแข็งแรงสดชื่น ซึ่งมีผลต่อจิตใจ ยิ่งถ้าเลือกไปปั่นจักรยานในสถานที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวเยอะๆ เวลาที่ขี่จักรยาน ก็จะมีเวลาชมนกชมไม้ด้วย
ลองหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน ขอเพียงเริ่มต้นที่ตัวเราเอง