เมาแล้วขับไม่ขับ ลดอุบัติเหตุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ระดมแก้ปัญหาปัญหาเมาแล้วขับ
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ ภาคเอกชน เปิดเวทีสาธารณะ เมาขับ เป็นแค่ความประมาทจริงหรือ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ นายเจษฏา แย้มสบาย เหยื่อเมาแล้วขับ
คุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า ปัญหาเมาแล้วขับถกเถียงกันมากในสังคมไทย ทุกครั้งที่เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับพฤติกรรมผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ กระแสผู้คนในสังคมก็จะก่อตัวขึ้นเรียกร้องให้จัดการกับผู้ที่เมาแล้วขับอย่างเด็ดขาดและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก ในฐานะที่มูลนิธิเมาไม่ขับเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับมา 20 กว่าปี เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหา การเมาแล้วขับ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในอนาคต การจัดเวทีสาธารณะ ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดรับ เพื่อฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า ผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีแนวทางในการตัดสินอรรถคดีตามกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว คดีเมาแล้วขับ มิใช่ว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาจะตัดสินให้ผู้เมาแล้วขับเป็นผู้ประมาทเสมอไป ต้องดูองค์ประกอบ อื่น ๆ ด้วย
นายเจษฏา แย้มสบาย เหยื่อเมาแล้วขับ เปิดเผยว่า สังคมไทยเห็นใจผู้กระทำความผิดมากกว่าผู้ตกเป็นเหยื่อ กรณีเมาแล้วขับ มีการเรียกร้องให้ลงโทษผู้ที่ก่อเหตุในสถานหนักด้วยโทษจำคุกหรือกักขัง โดยไม่รอลงอาญามานาน แต่ก็มีกระแสคัดค้านว่าเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป จะทำให้ผู้เมาแล้วขับเสียอนาคต ขณะที่เหยื่อผู้ถูกกระทำ สังคมกลับเมินเฉย
คุณหมอสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 20 ปี พึงกระทำได้ แต่การดื่มแล้วไปขับรถ เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นบนท้องถนน
ดังนั้น ผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิผู้อื่น ย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ.