เมาชนคนตายเท่ากับ ‘เจตนาฆ่า’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ fm91bkk.com
มูลนิธิเมาไม่ขับสุดดันเพิ่มโทษ พร้อมเป็นโจทก์ร่วมอัยการฟ้อง
เมื่อไม่นานมานี้ ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสาธารณะ เมาชนคนตาย สังคมไทยจะเอายังไง?
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนวันที่ 1 ม.ค.-29 เม.ย. 62 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 5,351 ราย แบ่งเป็น ชาวไทย 5,220 ราย หรือเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 60 ราย ชาวต่างชาติ 131 ราย หรือเสียชีวิตวันละ 1 ราย เมื่อเทียบกับปี 61 ในช่วงเวลาเดียวกันพบผู้เสียชีวิต 5,467 ราย ลดลง 116 ราย จากสาเหตุการเสียชีวิตมาจากเมาแล้วขับไม่ต่ำกว่า 50% หรือ 2,000 กว่าราย ดังนั้นสังคมไทยต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อยับยั้งเมาแล้วขับเพราะไม่อย่างนั้นทุกชีวิตมีความเสี่ยง สำหรับคนเมาชนคนตายเป็นคนที่รู้กฎหมายแต่กระทำ เพราะท้าทายกฎหมายซึ่งบ่งบอกถึงการกระทำที่เจตนาไม่ควรจะประนีประนอม ควรจะหาแนวทางป้องกัน เพื่อให้สังคมอยู่อย่างปกติ
นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถเบนซ์ชนรถยนต์บนถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 62 สาเหตุเกิดจากเมาแล้วขับ มูลนิธิเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.เรื่องการฟ้องคดี ถ้าภาครัฐไม่ฟ้องคดีขับรถชนคนตายให้เป็นกรณีเจตนาฆ่าเป็นแค่กรณีประมาท ทางมูลนิธิจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยหารือกับญาติผู้เสียชีวิตจะเห็นด้วยหรือไม่เพราะมีหลายกรณีที่มูลนิธิเข้าไปช่วยกรณีขับรถชนคนตายเป็นเจตนาฆ่าไม่ใช่ความประมาท โดยจะเป็นโจทก์ร่วมกับทางอัยการให้เป็นเจตนาฆ่าหลังจากนั้นศาลจะตัดสินเป็นแค่เจตนาหรือประมาทจะยอมรับผลการตัดสินของศาล
2.ขณะเดียวกันจะแก้กฎหมายบทลงโทษเมาแล้วขับชนคนตายต้องมีโทษเท่าเจตนาฆ่าคน โดยบทโทษขั้นต่ำต้องมากกว่าเมื่อลดโทษครึ่งหนึ่งแล้ว หรือมากกว่าจำคุก 5 ปี เพราะฉะนั้นโทษขั้นต่ำอาจจะมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เพราะถ้าศาลลงโทษขั้นต่ำแล้วลดให้ครึ่งหนึ่งยังมากกว่า 5 ปี ซึ่งไม่สามารถรอลงอาญาได้ เพราะโทษปัจจุบันจำคุก 1-10 ปี ถ้าลดครึ่งหนึ่งรอลงอาญาได้ทันทีเพราะฉะนั้นต้องแก้เมื่อลดโทษครึ่งหนึ่งแล้วไม่สามารถรอลงอาญาได้ ลดโทษแล้วต้องมากกว่า 5 ปีนั่นเอง ซึ่งแนวทางนี้การปรับแก้กฎหมายไม่ง่าย ต้องใช้เวลา บางครั้งใช้เวลาเป็น 10 ปี
พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นทางการ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม จริงจัง ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ได้ต้องตระหนักรู้ที่ถูกต้องโดยเฉพาะสื่อมวลชนเป็นตัวการในการขับเคลื่อนเพราะสังคมเชื่อสื่อ รวมทั้งความรับผิดชอบต่อตนเองครอบครัว และสังคม ตลอดจนความโหดร้ายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญมองสังคมโลกด้วย กฎหมายเมาแล้วขับยังไม่เกิดเหตุไทยจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000-20,000 บาท ส่วนใหญ่ศาลไม่เคยพิพากษาลงโทษคนเมาแล้วขับทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมายและกระทำผิดซ้ำซาก โดยเฉพาะผู้มีฐานะดี ขับรถชนคนตายจะมีเงินจ่ายทั้งค่าทำศพและจ่ายเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมทุกระดับ อาทิ ตำรวจ อัยการ และศาล
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินการเรื่องบทลงโทษเมาแล้วขับในต่างประเทศ เช่น แคนาดา เมาแล้วขับครั้งที่ 1 ปรับ 30,000 บาท ครั้งที่ 2 จำคุกขั้นต่ำ 30 วัน ครั้งที่ 3 จำคุกขั้นต่ำ 120 วัน ส่วนญี่ปุ่น เมาแล้วขับจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน หรือ 858,574 บาท ส่วนกรณีเมาชนคนตาย ไทยจำคุก 1-10 ปี ขณะที่แคนาดาจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยต้องเปลี่ยนบทลงโทษให้หนักขึ้นต้องลงโทษเมาแล้วชนคนตายไม่น้อยกว่าบทลงโทษมือปืนรับจ้างฆ่าคนตายคือโทษประหารชีวิต จากสถิติการจับผู้เมาแล้วขับปี 61 พบผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ 112,991 ราย เมื่อเทียบกับปี 60 พบ 96,467 ราย มีผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น 16,524 ราย จับมากขึ้นทุกปีแต่คนเมายังมากขึ้นอยู่ แสดงว่าคนไทยไม่กลัวกฎหมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องมาช่วยกันโดยเฉพาะศาลต้องพิจารณาลงโทษให้สูงขึ้น