เมาขับรับปีใหม่ส่งบำบัดในรพ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
รัฐบาลงัดมาตรการเด็ดกำราบเมาขับรับปีใหม่ ส่งผู้ทำผิดเข้าบำบัดใน รพ.ศูนย์ตามคำสั่งศาล ผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ หรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 20 มก./เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมา เตือนดื่มนมเปรี้ยว เคี้ยวรางจืด ไม่มีผลให้รอดตัว คุมประพฤติเตรียมกำไลอีเอ็ม 4 พันชุดไว้รอท่า
ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 24 ธันวาคมนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่า การกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผอ.กองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย กระทรวงมหาดไทย นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าว "สธ.ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว"
นพ.ปิยะสกล กล่าวตอนหนึ่งว่า เนื่องจากช่วง 7 วันอันตราย มีการพบผู้บาดเจ็บจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ดังนั้น ในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2561-2 ม.ค.2562 กระทรวงจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยมีการเจาะเลือดคนขับที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีคนเจ็บตายทุกราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนส่งไปตรวจที่ รพ.ของรัฐได้ทุกแห่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ คือ 1.เข้าถึงเหตุเร็ว โดยเปิดคู่สายหมายเลข 1669 เพิ่มเป็น 300 สาย 2.เข้าพื้นที่เกิดเหตุเร็ว ไม่เกิน 10 นาที โดยมีชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ และ 3.ส่งทีมแพทย์เร็ว ซึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ เลือด ไว้รองรับตลอด 24 ชั่วโมง
"ย้ำว่าเมื่อเกิดวิกฤติฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้าได้รักษาได้ทุก รพ.โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก โดยเราจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น เอาจริงและมีโทษแน่นอน เพราะสิ่งที่ทำขณะที่ท่านเมานั้นคือความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ อุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ครอบครัวต้องสูญเสีย เราจะไม่ปล่อย" รมว.สาธารณสุขกล่าว
ขณะที่ นพ.สุขุม กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลช่วง 7 วันอันตราย ปี 2561 พบว่ามีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติร้อยละ 67 ซึ่งช่วงปกติมีอุบัติเหตุเข้ารพ.เฉลี่ยวันละ 2,320 ราย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลปีใหม่ 2561 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิด 3,841 ครั้ง บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน เสียชีวิต 423 คน โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 60 สาเหตุมาจากเมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.23 กลุ่มที่บาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุดคืออายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี ส่วนใหญ่เกิดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. วันที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 31 ธ.ค. ดังนั้นปีนี้ได้สั่งการสำนักงานควบคุมป้องกันโรคทั่วประเทศ คุมเข้มกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายของปีใหม่ปี 2561 พบว่าร้อยละ 60 ของคนขับ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุด คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำชับให้เข้มงวด 1.การขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายห้าม ซึ่งพบว่าขายกันตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ 2.ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 3.การขายโดยไม่มีใบอนุญาต นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้คัดกรองบำบัด คุมการประพฤติคนเมา หากศาลมีคำสั่งจะต้องส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ใช้มีประสิทธิภาพมาก การดื่มนมเปรี้ยว หรือรางจืดก็ไม่สามารถรอดพ้นได้ ดังนั้นทางที่ดีคือดื่มไม่ขับ และเรียนว่าในกรณีของผู้ใหญ่ขับรถจะยึดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนขับรถโดยไม่มีใบขับขี่หรือเป็นใบขับขี่ชั่วคราว จะยึดปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกิน 20 มิลลิ กรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมา
ด้าน นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชน หากเห็นรถพยาบาลวิ่งมาอย่าสงสัยว่าภายในรถมีคนเจ็บหรือไม่ ขอให้ช่วยกันเปิดทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน นอกจากนี้ ก็ขอความร่วมมือหากไม่มีคนเจ็บป่วย อย่าโทร.สายด่วน 1669 เพราะทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ปีนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมกับด่านชุมชนทั่วประเทศ และมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้นข้อหาขับเร็ว เมาแล้วขับ ขับย้อนศร ฝ่าสัญญาณจราจร ไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีใบขับขี่ และใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับ นอกจากนี้ จะห้ามรถบรรทุกวิ่งในเส้นทางที่ประชาชนเดินทางเยอะ คือ 1.ถนนมิตรภาพตั้งแต่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ถึง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 2.ถนนพหลโยธิน ช่วง อ.เมืองนครสวรรค์ 3.ถนน กบินทร์บุรี-ปักธงชัย เป็นต้น เพื่อให้พื้นผิวจราจรมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากรถบรรทุกมีความจำเป็นสามารถทำเรื่องขออนุญาตเดินทางกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ น.ส.ภา วินี ซุ่นสั้น ลูกสาวดาบตำรวจอนันต์ ซุ่นสั้น เหยื่อเมาแล้วขับ เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2560 และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ รมว.สาธารณสุขเพื่อมอบดอกไม้เป็นกำลังใจ และสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรทุกราย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์ อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.ได้กำหนด 6 มาตรการหลักลดอุบัติเหตุทางถนน คือ 1.บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่าง เคร่งครัด 2.แก้ไขจุดเสี่ยงและสร้างสภาพแวดล้อม ริมทางปลอดภัย พร้อมจัดตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง 3.คุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท 4.เตรียมพร้อม ด้านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการสื่อสาร การเชื่อมโยง การแจ้งเหตุ การส่งต่อผู้บาดเจ็บที่รวดเร็วและเข้าถึงทุกพื้นที่ 5.ตรวจสอบความปลอดภัย ของเส้นทางสัญจรทางน้ำ เรือโดยสาร ท่าเทียบเรือ และความพร้อมของอุปกรณ์นิรภัย 6.มาตรการดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยกำหนดแผนปฏิบัติการเหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่ศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรมคุมประพฤติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ "กำไล EM" โดยมีนายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ร่วมสาธิตการใช้ "กำไล EM"
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การนำกำไล EM มาใช้กับผู้กระทำผิด เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย และพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการประชาชนของกระทรวงยุติธรรม สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในด้านการดูแลผู้กระทำผิดของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ยังเป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกที่สำคัญ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในชุมชน
นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 61 กรมคุมประพฤติ นำกำไล EM ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ดูแล ติดตาม ผู้กระทำผิดในชุมชน สำหรับอุปกรณ์อิเล็ก ทรอนิกส์ติดตามตัวพร้อมระบบที่เกี่ยวข้อง ที่นำมาใช้ 4,000 ชุด โดยเป็นการเช่าอุปกรณ์ตั้งแต่ ม.ค.62-ก.ย.63 เป็นระยะเวลา 21 เดือน