เมนูอาหารกลางวันคุณภาพนำร่อง 112 โรงเรียนต้นแบบ
ที่มา : ไทยโพสต์
หลังพบเหตุการณ์ขนมจีนคลุกน้ำปลาเป็นอาหารกลางวันของเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และตามมาด้วยอีกหลายสถานศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่า อาหารกลางวันของเด็กไทยยังห่างไกลคำว่าโภชนาการอีกมาก ส่งผลให้สังคมเกิดความตื่นตัวและหันมามองปัญหา "อาหารกลางวัน" ของเด็กอีกครั้ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ตั้งงบประมาณค่าอาหารกลางวันเป็นรายหัวให้แก่เด็กนักเรียนอย่างเพียงพอ และปัญหาดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นหากมีการบริหารจัดการและจัดสรรหาผู้ประกอบการและวัตถุดิบอย่างมีคุณภาพ ดังเช่นโครงการเด็กไทยแก้มใส ซึ่งถือเป็นงานต้นแบบการจัดการอาหารในโรงเรียนได้ปฏิบัติมาล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานต้นแบบการจัดการอาหารในโรงเรียน และทำพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ ให้กับโรงเรียนต้นแบบจำนวน 112 แห่ง
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการสุ่มประเมินคุณภาพอาหารกลางวันโรงเรียน โดยโครงการเด็กไทยแก้มใส พบว่า อาหารกลางวันในโรงเรียนส่วนใหญ่มีปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอตามมาตรฐานที่เด็กไทยควรได้รับต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินเอ ใยอาหาร และแคลเซียม ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง นั่นเป็นเพราะครูขาดความรู้ด้านโภชนาการ ระบบจัดซื้อในโรงเรียนเน้นราคาถูก ขาดการกำหนดคุณภาพ ขาดการจัดการงบอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาส งบประมาณในส่วนอาหารจึงถูกแบ่งให้ทั้งเด็กประถมและมัธยม ซึ่งนักเรียนมัธยมมีความต้องการมากกว่าประถม 1.5 เท่า
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการอาหารในโรงเรียน ซึ่ง สสส.ร่วมกับ 4 กระทรวงหลักและภาคีเครือข่าย ทดลองนำร่องในโรงเรียน 50 จังหวัด ในสังกัด สพฐ. อปท. และ กทม. มีรูปแบบการจัดการ 5 ด้านคือ 1.การเกษตรในโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับเกษตรชุมชน 2.ระบบสหกรณ์นักเรียนในการเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ 3.การจัดบริการ อาหารกลางวันคุณภาพ โดยมีโปรแกรมแนะนำการจัดสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน หรือ Thai school lunch โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเนคเทค ร่วมพัฒนาโปรแกรม เพื่อเป็นตัวช่วยให้การจัดอาหารกลางวันถูกหลักโภชนาการภายใต้งบประมาณที่จำกัด 4.การเฝ้าระวังติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียนที่เกินและขาดเป็นรายบุคคล 5.การจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการ และสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี ฉลาดเลือก ฉลาดบริโภค
ทั้งนี้ สสส.กำลังพัฒนาระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนที่ครอบคลุมตั้งแต่มาตรฐานการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน การจัดปัจจัยแวดล้อมในโรงเรียน และการติดตามประเมินผล ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับ สพฐ.และท้องถิ่นร่วมกัน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า รูปแบบการจัดการอาหารในโรงเรียนของศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใสที่ สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย เป็นการจัดการที่ตอบโจทย์อาหารในโรงเรียนให้มีคุณภาพ โดยดึงการมีส่วนร่วมจากคนในโรงเรียนและในชุมชนเพื่อนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้จัดบริการอาหารแก่เด็กนักเรียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีผ่านโปรแกรม Thai school lunch มาช่วยออกแบบเมนูอาหารกลางวัน เพื่อช่วยกำกับดูแลให้ทุกมื้ออาหารเด็กในโรงเรียนได้รับคุณค่าทางโภชนาการ และเพื่อความต่อเนื่องในการดูแลคุณค่าทางโภชนาการอาหารกลางวันของนักเรียน ป้องกันผู้แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณค่าอาหารกลางวัน
ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำชับมาตรการ 4 ข้อดังนี้ ข้อ 1 เมนูอาหารกลางวันต้องได้คุณภาพ โดยให้พิจารณานำระบบ Thai School Lunch เป็นตัวช่วยแนะนำเมนูอาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการ และวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารกลางวันต้องมีความปลอดภัย ข้อ 2 ความโปร่งใส เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน โดยให้ปิดประกาศรายการอาหาร และจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร รวมถึงสารอาหารเฉลี่ยให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับทราบ
ข้อ 3 การกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจึงกำหนดให้แต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจคุณภาพและการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน ในกรณีที่สถานศึกษามีการจ้างเหมาควรมีกรรมการตรวจการจ้างและตรวจรับจาก 3 ภาคส่วน ทั้งจากกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้ปกครอง ตัวแทนจากท้องถิ่น และตัวแทนจากสถานศึกษา และข้อ 4 การเฝ้าระวัง ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน เพื่อช่วยป้องกันการขาดสารอาหารแก่เด็กที่ผอม และเด็กอ้วนที่มีน้ำมากเกินเกณฑ์
สำหรับท้องถิ่นหรือโรงเรียนใดที่มีความพร้อมก็ให้กองการศึกษาของเทศบาล และ อบต.ที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ จัดให้มีนักโภชนาการท้องถิ่น หรือครูโภชนาการมาช่วยดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอาหารและโภชนาการ ส่งเสริมการศึกษาของเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผลมากที่สุด ภายใน 2 เดือน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะทำความร่วมมือกับ สสส.และหน่วยงานภาคี เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนและการส่งเสริมติดตามอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทั่วประเทศให้เกิดความยั่งยืน โดยภายในปี 2563 ต้องให้เกิดท้องถิ่นต้นแบบการจัดการอาหารโรงเรียนอย่างครบวงจร อย่างน้อยจังหวัดละ 5 องค์กรท้องถิ่น
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.และนักโภชนาการ กล่าวว่า การทำงานทางด้านโภชนาการดังกล่าวต้องปลูกจิตสำนึกครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูโภชนาการ ให้มีคุณธรรม จริยธรรม ตระหนักว่าอาหารกลางวันเป็นมื้อสำคัญที่สุด เด็กยากจนบางคนไม่ได้กินอาหารเช้ามาจากบ้าน ก็อยากกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน การแย่งอาหารกลางวันของเด็กจึงถือเป็นความผิดและเป็นบาปอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ถึงเวลาที่ต้องมีนักโภชนาการท้องถิ่น ตำบลละ 1 คน เพื่อให้ความรู้ ทักษะด้านอาหารและโภชนาการแก่ครู แม่ครัว ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างมาก นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็จัดให้มีนักโภชนาการประจำโรงเรียนละ 1 คน คอยสอน อบรมครู ผู้ปกครอง ให้ดูแลคุณภาพอาหาร แตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีนักโภชนาการท้องถิ่นเลย แม้แต่ในระดับจังหวัด มีแค่ในโรงพยาบาล และทำหน้าที่คอยดูแลอาหารผู้ป่วย เมื่อป่วยแล้วจึงจัดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ เป็นการทำงานเชิงรับ ไม่ใช่เชิงรุก จึงจำเป็นต้องผลักดันให้แต่ละตำบลมีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นของตนเองให้ได้
"เราต้องจัดระบบและสร้างกลไกตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันโดยดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ต้องนำ Thai School Lunch มาใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แค่ป้อนข้อมูลเด็กหญิง เด็กชาย จำนวนคนเข้าไป ก็จะได้เมนูอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และบอกรายละเอียดทั้งปริมาณวัตถุดิบ วิธีการปรุง เด็กจะได้รับสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ"
ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า ต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวัน รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการจัดอาหารกลางวันให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียน เช่น กำหนดสเปกการประมูลให้รัดกุม อาหารกลางวันทุกเมนูต้องมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ให้มีผักทุกเมนู ต้องเป็นเมนูไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง มีปลาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีเลือดและตับสัตว์ประกอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช้เกลือ เสริมไอโอดีน มีอาหารว่างเป็นผลไม้อย่างน้อย 3 วัน ที่เหลือเป็นขนมไทยหวานน้อย และให้ใช้ข้าวกล้องผสมข้าวขาว เป็นต้น
วิกฤติอาหารกลางวันที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือปรับปรุงแก้ไข เพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านโภชนาการของเด็กนักเรียนให้ดีขึ้น