เภสัชกรอาสา แนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก ลงพื้นที่ศึกษาดูงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและระบบยา กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ สู่การขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย จังหวัดเชียงราย
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“โอ๊ยปวดเมื่อยจังเลย ปวดหลัง ปวดเอวไปหมด ต้องไปซื้อยาแก้ปวดที่ร้านค้ามากินดีกว่า ไม่อย่างนั้นทำงานต่อไม่ได้แน่ ๆ ”
ประโยคที่ใคร ๆ หลายคนต้องคุ้นหูและอาจเคยได้ยินเวลาที่สมาชิกในบ้านหรือคนรอบข้างบ่นถึงอาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่เกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน และยาที่ว่านั้นก็คือ สเตียรอยด์ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการปวดเมื่อยได้ผลชะงัด แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าสเตียรอยด์มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการก่อให้เกิด “ภาวะไตวายเฉียบพลัน”
สเตียรอยด์…ยาเถื่อนเส้นทางนรกจากชายแดนสู่ชุมชน เป็นที่น่าตกใจว่า ร้านค้าของชำ หรือแม้แต่ตลาดนัดชุมชน ในพื้นที่อำเภอเชียงของ เชียงแสน และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแนวชายแดนไทยที่ติดกับประเทศลาว มีการขนส่งยาและเภสัชเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ข้ามพรมแดนแบบผิดกฎหมาย ด้วยพื้นที่ชายแดนส่วนนี้ไม่มีด่านในการตรวจสอบการนำเข้าโดยเจ้าหน้าที่ จึงทำให้พบเห็นยาเหล่านี้ขายตามแผงลอยและร้านค้าทั่วไปในชุมชน
ปัญหายาชายแดน ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย และการใช้ที่ไม่เหมาะสมจากการได้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้บริโภค เป็นปัญหาที่นำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงการลงพื้นที่ศึกษาดูงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและระบบยา จังหวัดเชียงรายว่า เชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงเรื่องการใช้ยาอันตราย เพราะเป็นพื้นที่รอยต่อของประเทศ การนำเข้ามาของยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สสส.ทำงานโดยการกระตุ้นในระดับพื้นที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงชุมชน ทำงานร่วมกันเพื่อจัดการปัญหาระบบยาในพื้นที่มีให้ประสิทธิภาพและครอบคลุม
“สสส. ร่วมมือกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังระบบยาในระดับพื้นที่และระดับภาค สร้างและจัดการความรู้เพื่อการเฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง” นายชาติวุฒิ กล่าว
ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย สู่การขับเคลื่อนเป็นอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย โดย ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ได้กล่าวถึงการจัดการระบบยาชายแดน ว่า ยาสเตียรอยด์ในระยะสั้นมีส่วนช่วยให้หายจากการเจ็บป่วยได้ แต่จะส่งผลต่อการทำงานของไตในระยะยาว เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตคอร์ติซอลขึ้นมาได้ ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ไปตลอดชีวิต เราพยายามสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านได้เข้าใจถึงผลกระทบของการใช้ยาตัวนี้ว่ามีผลเสียอย่างไรเมื่อรับประทานเป็นประจำ โดยที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์
“ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่จัดเวทีให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนงานวิชาการต่าง ๆ ผ่านทางศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือ ยาชายแดน มีการขยายพื้นที่การทำงานไปได้มากขึ้น จากเดิมที่เริ่มต้นเพียงสามอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันได้ขยายไปครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย” ภก.อิ่นแก้ว กล่าว
การดำเนินการคุ้มครองสุขภาพประชาชนและแก้ไขปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในชุมชน มีวิธีการทำงานแบบคู่ขนาน ของกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ดังนี้
- การให้ความรู้ในชุมชนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยประสานงานกับเจ้าของตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าในตลาดรับทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในพื้นที่
- ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ไปให้ความรู้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ เรื่องการใช้ยาสเตียรอยด์และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
- ร่วมกับ อสม. แต่ละชุมชน สร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมในชุมชน โดยสำรวจร้านค้าของชำ
- ทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานทางปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่าน อย. อำเภอเชียงของ ด่านควบคุมโรคอำเภอเชียงของ รพ.สต. และประเทศเพื่อนบ้าน ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ข้ามแดนระหว่าง 2 พื้นที่ ไทย-ลาว เพื่อป้องกันควบคุมการลักลอบนำเข้าและการจำหน่ายในพื้นที่
การใช้ยาสเตียรอยด์ที่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อร่างกายและเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ยาที่ปลอดภัยสร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังระบบยาในระดับพื้นที่ หนุนเสริมให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาสเตียรอยด์