เพิ่ม3สิทธิ’บัตรทอง’ยา-วัคซีนรวม 5 ชนิด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


เพิ่ม3สิทธิ'บัตรทอง'ยา-วัคซีนรวม 5 ชนิด thaihealth


แฟ้มภาพ


บอร์ด สปสช.มีมติ เห็นชอบ เพิ่มสิทธิประโยชน์คนไข้สิทธิบัตรทอง 48.575 ล้านคน "ยา-วัคซีน" 3 รายการ วัคซีนรวม 5 ชนิด ยาป้องกันเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยาโรคหลอดเลือดดำ ในจอตาอุดตัน เริ่มปีงบประมาณ 62 พร้อมไฟเขียว "หลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง ปี 62"


ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข(รมว.สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนและยา 3 รายการ ได้แก่ 1.วัคซีนรวม 5 ชนิดคอตีบบาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบีและโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา influenza) สายพันธุ์ บี  2.ยาราลเทกราเวียร์ (Raltegravir) และ 3.ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ให้ผู้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง48.575 ล้านคน เริ่มในปีงบประมาณ 2562 รวมทั้งมีมติเห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนรวม 5 ชนิด ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและฝีในสมอง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา สายพันธุ์บี ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากให้วัคซีนนี้จะมีผลกระทบงบประมาณที่ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนต้องจ่าย ราว 15.98 ล้านบาท แต่ทำให้สามารถลดภาระงบประมาณเดิม จากข้อมูลผู้ป่วยในเฉพาะสิทธิบัตรทอง ที่มีภาระค่ารักษาประมาณ 73.27 ล้านบาท


ส่วนยาราลเทกราเวียร์ ใช้สำหรับป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี จากมารดาสู่ทารกในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีสู่ทารก คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ต้องรับยา 693 รายและถ้าได้รับยาจากเดิมจะมีอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี สู่ทารก 7.6% หรือ 53 ราย จะลดลงเหลือ 3.9% หรือ 27 ราย มีค่าใช้จ่ายยา 6,792.80 – 10,189.20 บาท ต่อคนต่อคอร์ส และยาบีวาซิซูแมบ ใช้สำหรับโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาประมาณ 10,800 ราย ได้รับการฉีดยาบีวาซิซูแมบ เฉลี่ย 4 ครั้งต่อคนต่อปี คิดเป็น 26.193 ล้านบาทต่อปี


นอกจากนี้ เพิ่มรายการถุงอุจจาระ โคลอสโตมี่ (Colostomy Bag)เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเพื่อเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ป่วย


นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า จากที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2562 จำนวนราว 181,584 ล้านบาท อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนองบประมาณเพื่อดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้  1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 166,445.22 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากร 48.575 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3,426.56บาท/ประชากร โดยเป็นงบประมาณหลังหักเงินเดือนบุคลากรแล้ว 119,130.26 ล้านบาท 2.บริการบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อ เอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์  3,046.31 ล้านบาท 3.บริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 8,281.79 ล้านบาท 4.บริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง 1,135.02 ล้านบาท 5.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490.28 ล้านบาท 6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 916.80 ล้านบาท และ 7.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 268.64 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกทั้งในและนอกเขต กรุงเทพมหานครเพิ่มเติม 652,173 ครั้ง


สำหรับในปี 2562 ได้ปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ บริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย เป้าหมายคัดกรองแต่ละพื้นที่ให้ผ่านความเห็นชอบ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) การบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ปรับให้เบิกจ่ายตามผลงานจริง(Fee schedule)


การปรับแนวทางการจ่ายผู้ป่วยใน เพื่อให้หน่วยบริการมีความมั่นใจในการบริการเพิ่มขึ้น ได้แก่ การกันวงเงินระดับประเทศ 100 ล้านบาท เพื่อปรับเกลี่ยค่าน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) และการกำหนดอัตราจ่ายคงตลอดทั้งปี 8,050 บาทต่อ AdjRW เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเพื่อดูแลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้นำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้อง ด้วยเครื่องอัตโนมัติ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และความดันสูง โดยปรับปรุงบริการเน้นการควบคุมป้องกันภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ขณะเดียวกันยังได้ปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อสนองต่อนโยบาย รัฐบาล

Shares:
QR Code :
QR Code