‘เพิ่ม 2 ลด 1’ คนยุคใหม่ไกล NCDs

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


'เพิ่ม 2 ลด 1' คนยุคใหม่ไกล NCDs thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันคนในยุคดิจิตอลล้วนมีความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2557 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรค NCDs มากถึง 36 ล้านคน หรือร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ


ส่วนของประเทศไทยพบว่า ในปี 2555 ชาวไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.25 ชั่วโมง และเพิ่มขึ้นเป็น 13.54 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรค NCDs ทั้งสิ้น โดยในปี 2558 พบพฤติกรรมเนือยนิ่ง 5 อันดับแรกของคนไทยคือ นั่ง/นอนดูโทรทัศน์ (ร้อยละ 50.0) นั่งคุย/นั่งประชุม (ร้อยละ 28.4) นั่งทำงาน/นั่งเรียน (ร้อยละ 27.0) นั่งเล่นเกมโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ (ร้อยละ 20.1) และนั่งอ่านหนังสือ (ร้อยละ 10.8)


ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหา  สุขภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สสส.จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ "เพิ่ม 2 ลด 1" คือ เพิ่มกิจกรรมทางกาย (Physical Activities) ในชีวิตประจำวัน, เพิ่มพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) เพื่อการมีกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) ในชีวิตประจำวัน


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ขยายความว่า ยุทธศาสตร์ "เพิ่ม 2 ลด 1" จะได้มีการดำเนินการตลอดช่วงชีวิต โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงวัยหลัก ได้แก่ วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จึงถือเป็นพันธกิจเพื่อการลงทุนที่สำคัญ และลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs อาทิ ความอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์และอัมพาต เป็นต้น


เริ่มต้นที่ วัยเด็ก ควรปลูกฝังเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางกายเป็นนิสัย โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กๆ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เช่น การเดิน การเล่น หรือเล่นกีฬา แทนที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การอยู่หน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือนั่งอยู่กับเก้าอี้เป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันภาระโรคอ้วน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกลุ่มโรค NCDs


วัยทำงาน (25-59 ปี) ถือเป็นกลุ่มช่วงวัยมีปัจจัยเสี่ยงการเกิดกลุ่มโรค NCDs มากที่สุด ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตปราศจากวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง (Active Living) นับตั้งแต่การเดินทางไปทำงานทั้งขาไปและขากลับ ที่ต้องนั่งหรือยืนบนยานพาพนะเป็นเวลานาน ขณะที่การทำงานก็ยังคงอยู่ในสภาวะการนั่งทำงานสลับกับการนั่งประชุมทั้งวัน จนแทบไม่ได้ลุกจากเก้าอี้ หรือขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ออกแรงกายแต่อยู่กับหน้าจอ เช่น ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ


"คนกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลาง และพยายามลุกจากเก้าอี้ หรือเปลี่ยนเป็นการยืนประชุมแทน รวมทั้งต้องลดการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การดื่มสุรา การสูบบุหรี่และความเครียด และหากไม่สร้างเสริมสุขภาพของคนวัยทำงานในวันนี้ เราคงต้องมาซ่อมแซมรักษาเมื่อแก่เฒ่าในอนาคตที่ป่วยด้วยสารพัดโรค NCDs ในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"


'เพิ่ม 2 ลด 1' คนยุคใหม่ไกล NCDs thaihealth


ช่วงวัยสุดท้ายคือ "วัยสูงอายุ" ที่ต้องระวังคือ "การล้ม" สำหรับแนวทางที่จะแก้ไขหรือบรรเทาให้มีความเสี่ยงลดลงได้ ด้วยการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงระบบต่างๆ ของร่างกาย และส่งเสริมการทำงานของระบบการควบคุมการทรงตัวให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในเรื่องของ "การล้ม" ของผู้สูงอายุอย่างตรงจุดอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณปู่คุณย่า หรือคุณตาคุณยาย มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ซึมสร้อยหงอยเหงา และเป็นการเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอีกด้วย


ดร.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส.จึงได้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนเกิดการเพิ่มกิจกรรมทางการ เกิดการขยับให้กระฉับกระเฉง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว โอกาสของการมีกิจกรรมทางกายมีอยู่ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถทำได้ง่ายในชีวิตประจำวันเพียงแค่เริ่มต้น "ขยับ" ให้มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมเรื่อง


การออกกำลังกาย ซึ่งหมายถึงการออกกำลังกายที่เป็นรูปแบบเฉพาะ และต้องจัดสรรช่วงเวลาเป็นพิเศษ เช่น การไปเดินหรือวิ่งที่สวนสาธารณะ การไปฟิตเนส หรือการไปเล่นกีฬาในยิมหรือสนามกีฬา เช่น แค่การเดินออกจากซอยในช่วงเช้า การเดินเพื่อต่อระบบขนส่งมวลชน หรือแม้กระทั่งการจอดรถในที่ทำงาน เราก็ยังสามารถขยับไปจอดให้ห่างอีกนิด เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสขยับกายด้วยการเดิน ขณะที่นั่งอยู่ในห้องประชุม แทนที่จะนั่งติดเก้าอี้นานกว่าครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง เราสามารถขยับแขน ขยับขา และร่างกาย ซึ่งสามารถลดความเนือยนิ่งได้ รวมไปถึงการเดินขึ้น-ลงบันไดในที่ทำงานแทนขึ้นลิฟต์


'เพิ่ม 2 ลด 1' คนยุคใหม่ไกล NCDs thaihealth


เมื่ออยู่บ้านสามารถใช้การทำงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ตากผ้า ทำกับข้าว ทำสวน ล้างรถ เล่นกับลูก เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรมทางกายได้ทั้งสิ้น


"ทุกอย่างทำได้และง่ายหากมองเห็นเป็นโอกาส และพยายามที่จะใช้โอกาสเหล่านั้นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพตนเอง และบอกกล่าวให้คนที่รักปฏิบัติด้วย เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย…อยากได้ต้องทำเอง" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวปิดท้าย


หากคนไทยทุกช่วงวัยในยุคดิจิตอล เห็นถึงโอกาสของการมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวันด้วยความเข้าใจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ "เพิ่ม 2 ลด 1" พร้อมปฏิบัติตามด้วยแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นหนทางไปสู่การมีสุขภาวะดีที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code