เพิ่มวิธีตรวจใหม่ เร่งสแกนโควิด-19

ที่มา : มติชน


เพิ่มวิธีตรวจใหม่ เร่งสแกนโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ.เพิ่มวิธีใหม่ตรวจเชื้อโควิด เน้นใช้ตรวจ 3 กลุ่ม ชี้ตรวจจากเสมหะ-เร็ว-แม่นยำ


ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.อภิชาติ วชิรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีการใช้ LAMP test ตรวจหาโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการตรวจเสมหะน้ำลาย ใช้เวลารวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการตรวจด้วย RT-pcr เพื่อความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มก้อนขนาดใหญ่


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า วิธีตรวจด้วยเสมหะน้ำลายมีข้อดีคือ 1.เก็บตัวอย่างง่ายกว่า เพราะการเก็บตัวอย่างหลังโพรงจมูกจะต้องมีผู้อื่นเก็บให้ แต่การเก็บเสมหะน้ำลาย ผู้รับการตรวจสามารถทำการเก็บได้เอง 2.ลดการใช้ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 3.ราคาถูกกว่านำสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและคอมาตรวจด้วยวิธี RT-pcr และ 4.ตรวจได้รวดเร็ว แม่นยำเทียบเท่ากับการตรวจด้วย RT-pcr


"วิธีการเก็บเสมหะน้ำลายตรวจ จะใช้กับ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้สัมผัส ทั้งเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ 2.กลุ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และ 3.กลุ่มค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และเป็น กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น แรงงานต่างด้าว ที่อาศัยรวมกันแออัด อาทิ จ.สมุทรสาคร ภาคใต้ตอนบน รวมถึงกรุงเทพฯ ใช้ตรวจกับผู้ที่มีความเสี่ยง แต่ไม่สะดวกที่จะออกมาตรวจด้วยวิธี RT-pcr อาทิ กลุ่มสื่อมวลชน จึงให้ใช้การเก็บเสมหะน้ำลายด้วยตัวเอง รวมถึงใช้ตรวจกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การเก็บด้วยเสมหะน้ำลายจะช่วยลดขั้นตอน และลดการใช้อุปกรณ์การเก็บได้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า เกณฑ์การตรวจด้วยเสมหะน้ำลาย คือ 1.ขยายเกณฑ์ ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจ หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่าย สปสช. ประกันสังคม จะเป็นผู้รับผิดชอบ 2.ประชาชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ จะแบ่งเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หากแจ้งเจ้าหน้าที่จะได้รับการตรวจ และกรณีการพบผู้สัมผัสในจำนวนมาก เช่น กิจกรรมที่มีผู้สัมผัสเป็น 1 พันราย หากจำเป็นต้องตรวจทุกคนวิธีนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการตรวจ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย


ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การตรวจด้วย RT-pcr ยังเป็นวิธีมาตรฐานอยู่ แต่ต้องหาวิธีที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในกลุ่มคนจำนวนมากได้แม่นยำ คัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมวิทย์จึงร่วมมือกับสถาบันบำราศนราดูร และกรมควบคุมโรคทดสอบในการตรวจหาภูมิคุ้มกัน


"คณบดีคณะแพทยศาสตร์ทั้งศิริราช รามา จุฬาลงกรณ์ ก็ยืนยันตรงกันว่าการตรวจด้วย rapid test ไม่ไว ประโยชน์ในการคัดกรองและวินิจฉัยก็มีน้อย ยังต้องใช้ตรวจด้วยวิธี RT-pcr แต่การตรวจวิธีนี้ใช้สารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและลำคอ การทำแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรและชุดป้องกัน PPE  ดังนั้นจะทำยังไงให้การวิธีตรวจได้ง่ายขึ้น จึงเป็นที่มาของการตรวจด้วยจากเสมหะในลำคอ ที่ผ่านมามีหลายประเทศทำแบบนี้ เช่น สหรัฐ พบว่าประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการตรวจด้วย swab ในคอและโพรงจมูก ดังนั้นการตรวจด้วยเสมหะน้ำลายจึงตอบโจทย์" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.อภิชาตกล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันบำราศฯเก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วยด้วยการ swab จำนวนมาก เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 1 ใน 2 ของค่าตรวจรักษา ดังนั้นต่อไป สถาบันบำราศฯจะให้ผู้ป่วยขากเสมหะน้ำลายออกมาเอง สามารถป้องกันและลดการสูญเสียการใช้ทรัพยากรได้มาก สามารถตรวจได้จำนวนมาก และค่าใช้จ่ายในการตรวจก็จะลดลงเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code