เพิ่มความสตรองให้สุขภาพ ชวนคนไทยลดปัจจัยเสี่ยง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เพิ่มความสตรองให้สุขภาพ ชวนคนไทยลดปัจจัยเสี่ยง thaihealth


คำกล่าวที่ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง” เป็นสิ่งที่แต่ละคนควรปฏิบัติและยึดเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค


นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับสังคมไทยที่พบว่า ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย คนไทยมีพฤติกรรมดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ลดลง ออกกำลังกายคงที่ และกินผักอย่างเพียงพอ แต่โรคที่ต้องจับตา นั่นคือ “โรคทางพฤติกรรมจากการใช้ชีวิต” พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้าน ความดัน 13 ล้าน เบาหวาน 4 ล้าน อีก 7.7 ล้าน เสี่ยงเบาหวานในอนาคต


จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด 19,468 ตัวอย่าง โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน เพื่อสำรวจการเฝ้าระวังทางสุขภาพของคนไทยระดับประเทศ


เพิ่มความสตรองให้สุขภาพ ชวนคนไทยลดปัจจัยเสี่ยง thaihealth


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุน สสส. เผยถึงผลสำรวจว่า พฤติกรรมสุขภาพเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 4 เมื่อปี 2552 ใน 4 เรื่อง คือ การสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ จากร้อยละ 19.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2557 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 3.4 กินผักและผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวันขึ้นไปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ร้อยละ 25.9 หรือ 1 ใน 4 และการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น เดิน ขี่จักรยาน อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 80


แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาวะอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกกลุ่มวัย โดยเพศชายมีจำนวน 32.9 และเพศหญิงร้อยละ 41.8 และจากข้อมูลพบว่าคนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน, ภาวะความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน, โรคเบาหวาน 4 ล้านคน และกลุ่มเสี่ยงเบาหวานอีก 7.7 ล้านคน แนวโน้มเป็นเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย” ประธานกรรมการกองทุน สสส.ระบุ


พล.ร.อ.ณรงค์บอกด้วยว่า การทำงานของ สสส.ในก้าวต่อไปจะเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัย และสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน พร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลดหวาน มัน เค็มลง โดยเฉพาะมาตรการในการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้


เพิ่มความสตรองให้สุขภาพ ชวนคนไทยลดปัจจัยเสี่ยง thaihealth


ขณะที่ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลว่า ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น จากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพศชายพบร้อยละ 32.9 และเพศหญิงพบร้อยละ 41.8 เมื่อเทียบกับดัชนีมวลกายพบว่า หญิงไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากมาเลเซีย ส่วนผู้ชายไทยอ้วนเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย ขณะเดียวกันผู้หญิงมีสัดส่วนเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.8 ผู้ชายร้อยละ 7.9 โดยภาคอีสานมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงสุด ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ จึงต้องเฝ้าระวังภาวะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันมากขึ้น


ข้อแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรค ศ.นพ.วิชัยแนะว่า ทุกคนควรรู้ดัชนีมวลกายน้ำหนักที่เหมาะสมของตัวเอง โดยสามารถทำตามสูตรการคำนวณหาค่า BMI หรือ Body Mass Index คือน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ซึ่งตัวเลขที่ได้ไม่ควรเกิน 23 เพราะเป็นระยะที่ไม่เป็นโรคอ้วน แต่ถ้าเกินจะต้องควบคุมพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายให้มากขึ้น


ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุน สสส. ด้านการสาธารณสุข ฉายภาพรวมสุขภาพประชากรทั่วโลกว่า มีปัจจัยที่สำคัญต้องส่งเสริมอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันต้องลดพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะการลดการบริโภคน้ำตาลเป็นสาเหตุภาวะอ้วน นอกจากนี้ เราสามารถศึกษานโยบายด้านสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เพราะประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างดี และมีอัตราภาวะอ้วนของประชากรลดลง


แค่เริ่มดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ตั้งแต่เรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการลดหรือเลิกสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพ เพียงเท่านี้ทุกคนก็มีสุขภาพที่ดีได้

Shares:
QR Code :
QR Code