เพาะเมล็ดพันธุ์ ‘เยาวชน’ ร่วมซ่อมแซมสังคม
เมื่อตั้งคำถามแบบง่ายๆ ในทำนองที่ว่า “เชย” หรือไม่ ที่คนวัยนี้ ตั้งใจพาตัวเองเข้าใกล้ศาสนา “จุ๊บแจง” ปัญญาภรณ์ สมส่วน นักเรียน ชั้นม.5 ร.ร.สองพิทยาคม แทบจะสวนตอบทันทีว่า “ไม่”
พร้อมกับบรรยายต่อ พอให้เจ้าของคำถามหยุดคิด จากนี้ไปอย่าเหมารวมเอาภาพที่ตัวเองเห็นมาแทนค่าความจริงทั้งหมด
จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ เรื่องของศาสนา วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงหลักคิดความพอเพียงมักถูกพูดจากปากคนมีอายุ จนแนวทางดังกล่าว กลายเป็นสัญลักษณ์ของนามธรรมคร่ำครึ หากแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในสังคมนี้จะหันหลังให้ไปเสียทุกคน แม้จะเป็นคนหนุ่มสาวก็เถอะ
“อย่างน้อยก็หนูนี่ละ” จุ๊บแจงว่า
มองไปรอบๆ ตัว ประโยคในใจความที่ว่า “ความสุขมีอยู่รอบตัว ไม่ต้องไปหาที่ไหน” เป็นทั้งคำสอนและสโลแกน ที่หาได้ตามโฆษณาคั่นละครโทรทัศน์ หรือป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ใกล้ทางด่วน ในแง่ดีปรากฎการณ์เช่นนี้ กล่าวได้ว่า ท่ามกลางระบบทุนที่แข่งขันกันอย่างไม่ปราณี การแสวงหาความสุขที่แท้จริงในแบบวิถีพุทธ ยังเป็นเรื่องที่ใครก็ใฝ่ถึง
ขณะที่อีกด้าน ตีความได้ในลักษณะที่ว่า คำโฆษณาชั่วครู่เป็นเพียงหยาดฝนท่ามกลางอากาศที่ร้อนอ้าวเท่านั้น หาได้เป็นการแก้ต้นเหตุให้สังคมชุ่มฉ่ำถาวรได้
ประเด็นนี้ พระสนั่น โฆสนาโม แห่งสถานปฏิบัติธรรมห้วยกี้วนาราม วัดห้วยกี้วนาราม บ้านห้วยกี้ จ.แพร่ สะท้อนแนวคิดด้วยคำพูดคุ้นหูว่า กระแสการศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ตอบสนองตลาดธุรกิจตลาดแรงงานมากเกินไป ผิดกับสาขาวิชาด้านการพัฒนาสังคม การยกระดับศีลธรรมจริยธรรมที่นับวันยิ่งน้อยลง สังคมจึงไม่สมดุลย์กัน
“ความสำคัญถูกให้น้ำหนักไปที่รายได้ วัตถุ และการเป็นคนเก่ง คนที่เรียนเก่งทำงานได้เงินเยอะ กลายเป็นคนมีคุณค่ามากกว่าคนที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม” พระสนั่นว่า
ทั้งนี้ ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การพิพากษาตัดสินชั่ว-ดี ที่การศึกษา ด้วยเพียงแค่ต้องการเสนอว่า ระบบการศึกษาควรปรับเข็มทิศความสำคัญ ไว้ที่เรื่องของจริยธรรมส่วนรวมบ้าง
นั่นจึงเป็นที่มาของ โครงการ“เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งชุมชน” ที่สถานปฏิบัติธรรมห้วยกี้วนารามหวังเป็นแหล่งบ่มเพาะต้นกล้ามนุษย์แห่งความดี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายพุทธิกา
“เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งชุมชน เกิดขึ้นจากความเชื่อในหลักพระธรรมคำสอน นั่นคือการฝึกตน ประพฤติและปฏิบัติไปในแนวทางที่ดี มีสติเท่าทันตนเองอยู่เสมอ ไม่หลงไปกับกระแสอันเป็นหลุมพรางของกิเลส เช่นเดียวกับการทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น” พระสนั่น อธิบายหลักคิด
“เราเน้นการให้คุณค่าทางจิตใจและเห็นค่าของการให้เยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือบ้าน ที่เป็นถิ่นฐาน และรกรากทั้งชีวิตและวัฒนธรรม การให้เห็นคุณค่าในการอยู่และพัฒนาชุมชน โดยมีธรรมมะเป็นหลักยึด ก่อนปรับใช้อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน” พระสนั่น อธิบายหลักคิด
โดยในตัวกิจกรรมนั้นจะแบ่งเป็น3 หลักใหญ่ๆ คือ กระบวนการเข้าใจตนเอง เพื่อเกิดความเมตตาต่อตนเอง ผ่านการภาวนาอย่างมีสติ อาทิ ในตอนรับประทานอาหาร การตามสามเณรไปบิณฑบาตตอนเช้า การทำวัตรเช้า-เย็น การสวดมนต์ เป็นต้น
กระบวนการเข้าใจผู้อื่น เพื่อเกิดการยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น มีกิจกรรมการฟังอย่างลึกซื้ง เป็นการฟังผู้อื่นด้วยความตั้งใจ อย่างไม่มีอคติและไม่ติดสิน ฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง กิจกรรมพลังกลุ่มเป็นการฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็น การร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา และยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล และกระบวนการเข้าใจสังคม เริ่มจากการลงศึกษาเรียนรู้ชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ให้เห็นภาพรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
พระสนั่น อธิบายว่า กิจกรรมทั้งหมดจะช่วยจำลองภาพชุมชนว่า เมื่อได้รับผลกระทบจากสิ่งตางๆ และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คนในชุมชนจะอยู่ร่วมกันและจัดการกับปัญหาอย่างไร และตัวเราเองจะอยู่ในจุดไหนได้บ้าง ทั้งนี้ทุกอย่างมีสารตั้งต้นจากการใช้ชีวิตแบบวิธีพุทธ นั่นคือ “สติ” รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
อย่างไรก็ดีกับกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการสรุปและอธิบายบทเรียนที่ได้รับมาผ่านการวิเคราะห์ร่วมกันเมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า
“จุ๊บแจง” นางสาวปัญญาภรณ์ สมส่วน บอกกับตัวเองว่า จากนี้ไป “สติ” คือสิ่งแรกที่ตัวเองจะตั้งมั่น ก่อนจะทำอะไรก็ตาม เช่นเดียวกับการพิจารณาใคร่ครวญความรู้สึกของตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมส่วนร่วม ด้วยเชื่อว่าความสุขทั้งหมดไม่ได้แยกส่วนต่อกันแต่เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน
ส่วน “เบญ” นางสาวเบญญพา สมจิต เล่าว่า จากที่เคยเข้าร่วมด้วยความเฉยๆ หากแต่วันนี้ใช้ชีวิตด้วยความสงสัย คือ สงสัยว่าเราได้ทำอะไรเพื่อตัวเอง เพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวมบ้าง มีอะไรที่เราสามารถจะทำได้และเกิดประโยชน์มากกว่านี้บ้าง
ด้าน พระอาจารย์สนั่น เสริมท้ายว่า แนวทางแห่งวิธีพุทธกับการศึกษา ไม่เคยปฏิเสธวิชาที่เป็นสากล ที่เป็นไปเพื่อความมั่งคั่งในการพัฒนาประเทศ หากแต่นอกจากความเป็นเลิศเฉพาะด้านแล้ว เยาวชนควรจะให้ความสำคัญกับจิตใจตัวเองพร้อมๆไปกับรู้สึกปราถนาดีต่อสังคมส่วนร่วมด้วย
การบ่มเพาะเยาวชนในวันนี้ จึงเปรียบเสมือนกับการสร้างและซ่อมแซมสังคมไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับตัวเยาวชนเอง ที่นอกจากจะไม่เชยแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองมหาศาล
ที่มา: สำนักข่าวสถาบันอิศรา