‘เพลง’ ของ ‘เพื่อนผู้พิการ’

        ถ้าไม่มาเห็นด้วยตา “โอม” ธีราทร สุจริต นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คงไม่รู้ว่าที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด (บ้านนนทภูมิ) มีอะไรมากกว่าสถานดูแลคนพิการที่เขารู้จักผ่านสื่อ


/data/content/25918/cms/e_abfghiklmqw1.jpg


        “ผมเห็นน้องคนพิการเข็นรถขึ้นทางลาดไม่ได้เลยจะเข้าไปช่วยเข็นแต่แม่ (พี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์) ส่งสัญญาณห้ามไว้จึงชะงักไว้และรอดูจากนั้นไม่นานนักน้องเขาก็เข็นขึ้นได้”


      “มันดูลำบากก็จริงแต่ก็ต้องฝึกมิเช่นนั้นหากเวลาใดที่ไม่มีแม่อยู่เขาจะช่วยตัวเองให้ได้”  โอม เล่าถึงภาพที่เคยเห็น แม้จะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ประสบการณ์ที่เขาและเพื่อนนักดนตรีสมัครเล่นจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ได้รับจากสถานสงเคราะห์ฯตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกยกให้เป็นหนึ่งช่วงเวลาที่มีค่าครั้งหนึ่งเพราะอย่างน้อยๆ มันช่วยเปิดมุมมองเรื่องความทุพพลภาพทางร่างกายของเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสซึ่งคือความจริงในสังคม


      ห้องเรียนในโครงการ “พลังเพลงพลังปัญญา” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเยาวชนTriple H Music กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีนี้ (ระยะที่ 4) ต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องด้วยนอกไปจากสนับสนุนเยาวชนที่รักดนตรีผลิตผลงานเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมแล้วปีนี้ยังเพิ่มเติมให้นักดนตรีที่ผ่านการคัดเลือกตั้งประเด็นปัญหาสังคมที่ตนเองสนใจจะนำเสนอ จากนั้นจะให้เยาวชนเข้าไปร่วมเรียนรู้ลงพื้นที่ โดยมีกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมซึ่งคุ้นเคยกับปัญหานั้นเป็นพี่เลี้ยง


       ทั้งนี้ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการผลิตผลงานเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมกลายเป็นสื่อคุณภาพที่แหลมคม ทั้งมีสาระและสนุกสนานในรูปแบบนำเสนอวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมาจึงเป็นอีกครั้งที่ 2 กลุ่มนักดนตรีจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ทั้งวง “ฮาร์ดแวร์” และ “North west” มาเรียนรู้ประเด็นเรื่องเด็กพิการกับมูลนิธิสุขภาพไทย


      หลังอาหารมื้อกลางวันและร่วมทำงานกับอาสาสมัครประจำเสร็จสิ้นเวลาซึ่งนักดนตรีสมัครเล่นอย่างพวกเขาจะขับกล่อมให้กับเพื่อนผู้พิการฟังจึงถูกเริ่มขึ้นและเพลงยอดนิยมของวัยรุ่นถูกบรรเลงขึ้นท่ามกลางรอยยิ้มที่สุขใจทั้งจากผู้ให้และผู้รับ


      ขณะที่เมื่อถามถึงเพลงที่กำลังจะเรียบเรียงขึ้นใหม่หลังผ่านชั่วโมงเรียนรู้ครั้งนี้ “ธีราทร” แย้มว่าจะเป็นเพลงที่สะท้อนความรู้สึกถึงคนภายในบ้านผู้พิการที่อยากจะบอกสู่โลกภายนอก


     “มุมมองที่คนภายนอกมีกับผู้พิการหลายๆ คนคงรับรู้กันมาบ้างแล้วบางคนสงสารบางคนเห็นแล้วรู้สึกอยากช่วยเหลือแต่ผมอยากจะทำเพลงที่บอกความรู้สึกของคนข้างในที่อยากจะบอกคนข้างนอกบ้าง”


      “เป็นเพลงของผู้พิการที่บอกไปถึงคนภายนอก” ตัวแทนเยาวชนกิจกรรมกลังเพลงฯ พูดถึงแนวคิดก่อนจะเป็นเพลงซึ่งต้องผนวกรวมประเด็นสังคมเข้ากับทักษะทางดนตรีอันเปรียบเสมือนปลายทางที่ต้องติดตามระหว่างทางที่พวกเขาลงพื้นที่ทำกิจกรรม


      เดฟ-ยืนหยัด พูลเทพ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ สมาชิกวง “ฮาร์ดแวร์” มองว่า นอกจากทักษะทางดนตรีที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมครั้งนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอดทนต่อทุกสิ่งในชีวิตเพราะการที่มีอวัยวะสมบูรณ์ครบ 32 ประการถือเป็นความโชคดีเหตุนี้แม้ชีวิตข้างหน้าหากชีวิตต้องอยู่อย่างมีความหวังและมีความสุข


     ส่วน แบงค์-ณัฐพงศ์ ชื่นใจ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเดียวกัน ซึ่งรับตำแหน่งมือกีตาร์วงฮาร์ดแวร์ กล่าวว่า กิจกรรมในรูปแบบพลังเพลงฯ ไม่ได้ให้ความสนใจที่ชัยชนะในเรื่องดนตรีอย่างเดียว แต่ยังสอนให้รู้จักสังคมในแง่มุมต่างๆ เช่นเรื่องคนพิการที่ครั้งหนึ่งเคยรู้จักอย่างผิวเผิน แต่วันนี้มีมุมมองที่ได้ทำให้ตัวเองเปลี่ยนไป ไม่รู้สึกไม่ท้อใจกับเรื่องต่างๆ ได้ง่าย


     “การเล่นดนตรีในวันนี้ จึงรู้สึกคุ้มค่า ผมรู้สึกหลายอย่างผสมกัน ทั้งได้มาทำบุญได้เล่นดนตรีที่พวกผมชอบได้ข้อมูลและมุมมองใหม่ๆ ในการทำเพลงต่อไป มันไม่ได้อยากจะชนะอย่างเดียว หรือแข่งดนตรีแล้วจบไปแต่มันทำให้เราตั้งคำถามว่าเราสามารถจะทำอะไรได้บ้างสำหรับผู้พิการเหล่านี้” แบงค์ กล่าว


      สำหรับรูปแบบของกิจกรรมพลังเพลงฯนั้นจะคัดเลือกวงดนตรีจากเยาวชนในสถาบันศึกษาทั่วประเทศเพื่อเข้าอบรมผลิตเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมและสื่อถึงการมีสุขภาวะทางปัญญา ทั้ง สิทธิชุมชนสิ่งแวดล้อม คนไร้บ้าน ฯลฯ ซึ่ง รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ผู้จัดการโครงการ ย้ำเพิ่มเติมว่า ถือเป็นการเปิดมุมมองด้านดนตรีและสร้างทัศนคติใหม่ เพราะดนตรีไม่จำเป็นต้องพูดถึงความรักอารมณ์ความรู้สึกเสมอไป แต่ดนตรีคือสื่อสร้างสรรค์ที่จะสะท้อนสังคมในมุมมองต่างๆ ขณะที่ตัวนักดนตรีเองก็สามารถผลิตผลงานดีๆ ได้โดยที่ไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ “ดนตรีและเสียงเพลงคือความชอบของวัยรุ่น


      แต่เพลงที่ดีต้องมองกว้างไปถึงสังคมที่เราอยู่อาศัย ให้เกิดผลงานเพลงที่มีสาระ และตัวเยาวชนเองก็จะเติบโตทางความคิด ร่วมเรียนรู้เรื่องที่เป็นจริงของสังคม” เช่นตัวอย่างการลงพื้นที่สถานสงเคราะห์ผู้พิการฯ ที่เยาวชนจะได้ข้อมูลที่หลากหลายและลึกขึ้นกว่าการรู้จักผู้พิการผ่านสื่อ “เพลง” ที่พวกเขากำลังจะทำขึ้นจึงน่าจะสะท้อนหัวใจ “เพื่อนผู้พิการ” ได้บ้างไม่มากก็น้อย


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code