เพราะเราคือ “ทูตรักษ์ชุมชน”
ลงลึกถึงฐานรากของชุมชนในระดับจิตสำนึก
อุบัติเหตุทางการจราจรนับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งของประเทศ เนื่องจากก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางการจราจรจะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการลดลงของอัตราการตายอันเนื่องมาจากโรคสำคัญอื่นๆ แล้วดูเสมือนว่าพัฒนาการในการบรรเทาปัญหาอุบัติเหตุทางการจราจรยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ดี การบรรเทาปัญหานี้จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
“โครงการศึกษาและพัฒนากลไกการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในจังหวัดนครปฐม”จึงได้เกิดขึ้น โดยมีรศ.ดร.วัฒนวงศ์ รัตนวราห เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมด้วยผศ.ดร.จินตวีร์ เกษมศุข นักวิจัยของโครงการฯซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ สถานศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งล้วนเป็นภาคีในการขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยร่วมกันดำเนินการประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความห่วงใยต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในจังหวัดนครปฐม ตลอดจนหาแนวทางในการมีส่วนร่วมจากภาคีในพื้นที่ดำเนินการ
โครงการฯ นี้ได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน(Community Participation) เป็นกลไกหลัก เพื่อให้สมาชิกในชุมชนจังหวัดนครปฐมเองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กล่าวคือ การดำเนินการครั้งนี้ได้ใช้วิธีการกระตุ้นให้เยาวชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งได้แก่ อำเภอเมืองอำเภอสามพราน และอำเภอดอนตูม ที่เป็นพื้นที่กลุ่มตัวอย่าง ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการเก็บข้อมูล รวมทั้งกระตุ้นให้สมาชิกอื่นๆในชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญและมีพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งนับเป็นวาระแอบแฝงหรือวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) ในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยกับชุมชนในพื้นที่นี้เอง ทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อมีเครือข่ายของชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญ
จากการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการดำเนินการโดยเน้นกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้เยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมนั้น ผลของการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ศึกษาทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดนครปฐมพบว่ามีอัตราของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 31.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44.7 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 สรุปได้ว่า การให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นวิธีการที่สามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ จากผลการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยพบว่า ปัจจัยด้านความห่วงใยของตนเองและครอบครัว มีผลต่อพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุด
โดยคิดเป็นร้อยละ 88.5 รองลงมา คือ ปัจจัยด้านการลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ ร้อยละ 85.2 และลำดับที่ 3 คือ ปัจจัยด้านคุณภาพอุปกรณ์ ร้อยละ 76.8 เพราะการพัฒนาใดๆ จะประสบความสำเร็จได้ต้องลงลึกถึงฐานรากของชุมชนในระดับจิตสำนึก โดยประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ตัวแทนเยาวชนในนาม “ทูตรักษ์ชุมชน” จากจังหวัดนครปฐมจำนวน 12 คน จึงได้เกิดขึ้น และเข้าร่วมรับการอบรมสร้างจิตสำนึกในการเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับชุมชนของตนเอง ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย โดยเยาวชนทั้ง 12 คน ถือเป็น 1 ในเครือข่ายรณรงค์ลดการเกิดอุบัติเหตุโดยเข้ารับการอบรมการเป็นผู้นำร่องรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้กับสมาชิกในพื้นที่ชุมชนของตนเองทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่ 3 อำเภอ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชน และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้กับผู้อื่นได้รับรู้และได้ตระหนักถึงผลเสียที่ได้รับ ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัย
เหล่าเยาวชนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า”พวกเราอยากทำให้ดีที่สุดเพื่อชุมชนบ้านเกิด และจะทำงานด้วยความตั้งใจเพื่อสังคมและชุมชน และยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรณรงค์ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในชุมชนของพวกเรา เพราะเราคือทูตรักษ์ชุมชน”
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update: 04-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร