เพราะพวกเรา อยากได้อากาศบริสุทธิ์
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก ลงพื้นที่ศึกษาและติดตามการดำเนินงาน แผนสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และพิธีลงนาม MOU การพัฒนาต่อยอดและขยายผลโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น จังหวัดเชียงราย
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“เพราะพวกเราอยากได้อากาศบริสุทธิ์” เสียงจากเด็ก ๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล พื้นที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สถานศึกษาต้นแบบที่นำปัญหาของมลพิษทางอากาศ PM2.5 มาบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน ให้นักเรียนรู้จักวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นในพื้นที่ชุมชนของตน
จังหวัดเชียงรายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอตามแนวชายแดน เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล เป็นโรงเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 โดยตรงจากการเผาและจากพื้นที่ข้างเคียง หรือควันข้ามแดน ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ และนี่คือวิกฤตที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้เชียงรายและทุกพื้นที่ของประเทศไทยกลับมามีอากาศหายใจที่บริสุทธิ์
“อนาคตเชียงรายจะต้องปลอดฝุ่น อนาคตเชียงรายจะต้องมีอากาศหายใจที่สดชื่น” คำกล่าวของ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึง การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานแผนสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และพิธีลงนาม MOU การพัฒนาต่อยอดและขยายผลโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น จังหวัดเชียงราย ว่า การจัดการองค์ประกอบสุขภาพระดับพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ สสส. มีหน้าที่จุดประกาย กระตุ้นสานเสริมพลัง พัฒนานวัตกรรมระดับท้องที่ในการจัดการปัญหาทางด้านสุขภาพ โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นเป็นโครงการที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพและการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“ในหลาย ๆ พื้นที่ เด็ก ๆ ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นเป็นโมเดลตั้งต้นที่ สสส. และคณะทำงานต้องการพัฒนาและขยายผลไปให้ได้ทุกจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีโมเดลสู้ฝุ่นที่นักเรียนสามารถจัดการสุขภาวะของตัวเองได้ รวมไปถึงจัดการระดับนโยบายในเชิงพื้นที่ได้อย่างเท่าทัน” นายชาติวุฒิ กล่าว
เมื่อจะต้องอยู่กับภัยทางอากาศนี้ไปอีกนาน โรงเรียนจึงได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นในพื้นที่ชุมชน และฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักการป้องกัน ดร.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นว่า โรงเรียนของเรามุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่เด็กนักเรียน ในการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงการลดการเผาในครัวเรือน ตลอดจนการเผาไร่นา พื้นที่เกษตร และส่งเสริมให้ความรู้ในการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ถูกต้อง ไม่เพียงแต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้นแต่รวมถึงในชุมชนด้วย
“การสร้างความรู้เรื่องฝุ่นให้กับเด็ก เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนทางความรู้ให้กับเด็กนักเรียน วัคซีนของเราแตกต่างจากวัคซีนทางการแพทย์ วัคซีนทางการแพทย์ฉีดให้กับคนไหนก็จะให้ผลกับคนนั้น แต่วัคซีนทางความรู้ เมื่อฉีดไปหนึ่งคน แต่กลายเป็นวัคซีนให้ผลกับคนอีกหลายคนทั้งกับตนเอง ครอบครัว และชุมชน” ดร.พัชรินทร์กล่าว
สิ่งที่น่าสนใจในการจัดการกับปัญหาฝุ่นของโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทราย ถึงแม้อากาศจะเต็มไปด้วยฝุ่นละออง แต่เด็ก ๆ ก็ยังคงต้องมาโรงเรียนกันตามปกติ โดยในทุก ๆวัน จะมีเวรผลัดเปลี่ยนกันมาดูค่าฝุ่น PM2.5 และบันทึกจากเครื่องวัดค่าฝุ่นยักษ์ขาว รายงานค่าฝุ่นผ่านกิจกรรม “ธงสุขภาพ” โดยจะมีการปักธงที่ห้องพยาบาลประจำโรงเรียนตามสีที่วัดได้จากฝุ่น PM2.5 เป็นสัญลักษณ์การเตือนที่ชัดเจน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รู้ถึงคุณภาพอากาศและการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง
ธงสุขภาพ คือ ธงสีต่าง ๆ ที่แจ้งเตือนระดับคุณภาพอากาศของภัยฝุ่น PM 2.5 มีทั้งหมด 5 สี
ตามระดับค่าฝุ่น PM 2.5 (หน่วย มคก./ลบม.) ที่เทียบกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
สีฟ้า – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 0 – 25 สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ
สีเขียว – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 26 – 37 สามารถกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
สีเหลือง – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 38 – 50 ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง
สีส้ม – มีค่าฝุ่นPM2.5 ระหว่าง 51 – 90 ลดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัย
สีแดง – มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ขึ้นไป ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกัน และอยู่ในห้องที่ปลอดภัย
เมื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ ก็จะต้องตั้งรับ เตรียมความพร้อม และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด สสส. ร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สร้างความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อให้จังหวัดเชียงรายและทุกพื้นที่ของประเทศไทยกลับมามีอากาศหายใจที่บริสุทธิ์อีกครั้ง