‘เพชรบุรี ดีจัง’ อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส.


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


ณ วัดใหญ่สุวรรณาราม คืนวันที่ 16-17 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ น่าจะคึกคักเป็นพิเศษ ชาวเพชรฯ และชาวต่างถิ่นที่สัญจรผ่านไปมาทุกคนต้องได้ยินเสียงร้องลิเกใส ๆ แว่วมา ไหนจะการแสดงโขนเด็กที่เรียกความครึกครื้นสนุกสนาน ห่างไกลออกไปหน่อยอาจแว่วเสียงตอกโป๊ก ๆ ของมือสมัครเล่นรุ่นเยาว์ที่กำลังง่วนกับการเจาะลวดลายแผ่นกระดาษเป็นระยะลอยแทรกกลืนไปกับบรรยากาศอึกทึกคึกคัก สลับกับเสียงหัวเราะของเหล่าเด็ก ๆ ตัวเล็กตัวโตที่ต่างกำลังสนุกสนานกับของเล่นใหม่อย่างตื่นตาตื่นใจเพราะอาจเพิ่งเคยเห็น เป็นครั้งแรกในวันนี้


เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเกินเลยความจริง เพราะหากหลายคนได้มาอยู่ในงาน "เพชรบุรีดีจัง สุโขสโมสร" ก็จะได้เห็น รอยยิ้มเปื้อนใบหน้าของคนทุกคนในงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กน้อยหรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่จูงลูกจูงหลานมาเที่ยวงานต่างก็พกพาความสุขกลับบ้านไม่ต่างกัน


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


เพชรบุรีดีจังวันแรกเริ่มเกิดจากเด็กกลุ่มเล็ก ๆ ที่ชื่อ "กลุ่มลูกหว้า" ที่ใจใหญ่และสนใจในคุณค่าวัฒนธรรมของพื้นที่ตัวเอง เมื่อได้ความเอื้อเฟื้อจากผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นวัดใหญ่สุวรรณารามและครูจำลอง บัวสุวรรณ ที่เป็นแกนนำพาลูกศิษย์มาร่วมกิจกรรมจนเด็ก ๆ เมืองเพชรใจแกร่งเหล่านี้เติบโตมาเป็นแกนนำหรือนักขับเคลื่อนสังคม


หนูแดง-สุนิสา ประทุมเทือง หนึ่งแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่เครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง เล่าว่า สำหรับปีนี้เข้าสู่ปีที่ 8 การจัดงานมีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายจากภูมิปัญญาอันหลากหลายของ 8 พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี อาทิ นิทรรศการภาพถ่ายที่หอศิลป์ ท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรี เรียนรู้ทำขนมและข้าวแช่กับแม่ตุ้ม และคัดลอกตอกลายจากวัดใหญ่สุวรรณาราม ทำของเล่นเด็กโดยกลุ่มไม้ขีดไฟ ปั่นจักรยานชมเมืองไปจนถึงเยี่ยมชมวิถีชีวิตการทำนาเกลือ เป็นต้น เรียกว่ากิจกรรมชวนสนุกและเปิดโลกเรียนรู้นั้นอัดแน่นตลอดสองวัน


ที่สำคัญเบื้องหลังคนจัดงานล้วนเป็นเด็กและเยาวชนลงมือทำเองเกือบทั้งหมด ทั้งการคิด ออกแบบ วางแผน ไปจนถึง ขับเคลื่อนทุกกิจกรรมย่อย นับเป็นเรื่องของการใช้วันว่างได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


หนูแดง เปิดใจถึงการมาร่วมในงานเพชรบุรีดีจังว่า เกือบสิบปีก่อนเธอและเพื่อน ๆ ในนามกลุ่มลูกหว้าเริ่มมาตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 งานนี้นอกจากจะทำให้เธอรู้จักเพชรบุรีมากขึ้นเรียกว่าเกือบทุกซอกทุกมุม ทุกซอกทุกซอยในเมืองเพชร ทีมเพชรบุรีดีจังไปลุยมาหมดแล้ว การได้มาคลุกคลีอยู่กับเพชรบุรีดีจังร่วมสิบปียังทำให้เป้าหมายชีวิตของเธอเปลี่ยนไปในทางที่ชัดเจนมากขึ้น


"ตอนเรียนชั้นมัธยม 4 เคยฝันอยากเป็นพยาบาล แต่พอจบมัธยม 6 แล้วจึงเริ่มรู้ว่าไม่ใช่ เรารู้แล้วว่าเราชอบ เราอยากทำงานแบบนี้ ก็มาคิดว่าเรียนอะไรดี ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนที่อื่นเพราะอยากลองใช้ชีวิตนอกเพชรบุรีดูบ้าง แต่พอมาคิดว่าจริง ๆ แล้วเราอยากอยู่ตรงนี้นะ เพราะตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เพชรบุรีดีจังมันคือชีวิต คือครอบครัวเราไปแล้ว แถมพ่อแม่อยากให้เราเรียนที่นี่ หนูขอพ่อแม่เลยว่าเรียนที่เพชรบุรีก็ได้นะ แต่ขอเงื่อนไขว่าถ้าเราเรียนขอทำงานเพชรบุรีดีจังต่อได้ไหมก็เลยเลือกเรียนการจัดการที่มหาวิทยาราชภัฏเพชรบุรี" เธอเอ่ยว่าเสน่ห์ของเพชรบุรีดีจัง นั่นคือเสน่ห์โลกเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่สิ้นสุด


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


"มันอยากทำ มันสนุก รู้สึกว่าเราได้เรียนแต่ละเรื่องไม่ซ้ำกันเลย เอาจริง ๆ นะ บางครั้งหนูไปเรียนในห้องเรียนก็ซ้ำ ๆ กันไปมา นั่งหลับ แต่สมมติวันนี้เราไปเรียนร้อยอุบะ เราไปหาคุณตาคุณยายเขาก็สอนให้ เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หนึ่งอย่างแล้วแถมยังรู้จักคนใหม่ ๆ มาคนหนึ่ง ถ้าพรุ่งนี้เราอยากเรียนอะไรหรือทำอะไรเป็นเราก็ไปหาเลย ส่วนเวลาจัดงานเราต้องวางแผนงานเวลาที่เจออะไรต้องแก้ไข เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาหรืออุปสรรค แต่รู้สึกว่าต้องแก้มันให้ได้ อย่างเวลาที่อาจารย์ออกข้อสอบ อ้าว ทุกอย่างมันอยู่ในหัวเราหมดแล้ว เราเคยทำมาหมด เราตอบได้ จนอาจารย์ยอมให้หนูฝึกงานกับโครงการเพชรบุรีดีจัง"


ในฐานะผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนรายสำคัญ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เอ่ยว่า กิจกรรมนี้สอดคล้องกับโครงการที่ สสส. กำลังจะขยายผลคือโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง "แต่เพชรบุรีเขาทำล่วงหน้ามานาน  ซึ่งเราจึงชักชวนเขามาร่วมและอยากขยายให้กิจกรรมนี้ลงไปลึกถึงระดับอำเภอให้เด็กเยาวชนในเพชรบุรีมีโอกาสมีกิจกรรมและพื้นที่ทำกิจกรรมใกล้บ้าน"


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


ดร.สุปรีดา เอ่ยต่อว่า ความจำเป็นที่เด็กและเยาวชนยุคนี้ควรมีกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมหรือวันว่างสำคัญมาก เพราะผลการสำรวจยูรีพอร์ต ที่สำรวจเด็กและเยาวชน พบว่า เด็ก 35% เห็นว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่ สร้างสรรค์น้อย 12% มองว่าไม่มีโอกาส มีส่วนร่วมในพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ และ 42% อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนมากขึ้น  การรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และบ่มเพาะสุขภาวะทางปัญญาผ่านกิจกรรม "เพชรบุรี…ดีจัง" จึงเป็นเหมือนสนามการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอมขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้สัมผัส


"เด็กและเยาวชนยุคนี้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้สูงกว่าอดีต เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโลกทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เขาต้องการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์จริง เพราะมีผลต่อการเรียนรู้จริงไม่น้อย เพราะกิจกรรมเหล่านี้เด็กจะถูกบังคับน้อย สมองจะเกิดการรับรู้จากการสัมผัสจริง ลองทำจริงเป็นสิ่งแปลกใหม่ไม่จำเจ ที่ได้เรียนรู้หรือเป็นสิ่งที่เขาชอบทำให้มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างมาก"


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องเข้าใจโลกใหม่ในอนาคตที่ลูก ๆ อยู่ ว่าโลกใหม่ในอนาคตเปลี่ยนไปและแตกต่างกับโลกที่เราเคยผ่านมา แนวโน้มว่าการเรียนในห้องเรียนหรือใบปริญญากำลังมีความสำคัญน้อยลงกว่าการเรียนจากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน จึงควรให้เวลาลูก ๆ เลือกที่จะมีพื้นที่หรือกิจกรรมที่เขาเล่น นอกจากการคร่ำเคร่งกับการเรียนหรืออยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือใช้เวลาว่างเล่นเกม


ผู้จัดการ สสส. เอ่ยต่อว่า สำหรับเพชรบุรีดีจังเกิดมาร่วมสิบปี และมีกิจกรรมทั้งปิดและไม่ปิดเทอม คือ ทุกวันว่างของเด็กควรมีกิจกรรมหลากหลายนอกห้องเรียนต่อเนื่อง


"กิจกรรมดังกล่าวคือการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ เขาดึงเอาจุดเด่นที่เขามี เช่น ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แต่ละพื้นที่นำไปประยุกต์ได้ว่าพื้นที่เรามีอะไรดี ๆ คนในท้องถิ่นก็ควรพัฒนามาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ได้ ซึ่งเขายังสามารถสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านั้น หรือช่วยพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง และเพื่อขยายผลต่อมาเชื่อมกับกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ สสส.จึงอาจเริ่มชวนกลุ่มภาคีต่าง ๆ ร่วมกันทำกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์เวอร์ชั่นเพชรบุรี โดยอาจทำให้เรางอกกิจกรรมเฉพาะสำหรับวันเปิดเทอมที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้นผ่านนักจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีกิจกรรมเยอะขึ้น ใกล้บ้านเด็กมากขึ้น ต่อไปทุกจังหวัดก็นำคอนเสปต์นี้ทำได้" ดร.สุปรีดากล่าว


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


ด้าน กรรณิการ์ เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า กิจกรรมที่นำมาจัดล้วนเป็นกิจกรรมทรงคุณค่า ซึ่งเด็กและเยาวชนเพชรบุรีได้ลงไปนำเอาคุณค่ามาจัดแสดง ได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ ที่มีคุณค่าวัฒนธรรมและสื่อสร้างสรรค์ เป็นการจัดที่ได้รับการสนับสนุนหลายฝ่าย รวมทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รวมถึง เครือข่ายเพชรบุรีดีจัง 8 อำเภอ


"พื้นที่เพชรบุรีดีจัง สะท้อนถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานของ สสส. ที่ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเด็กเยาวชน มีพื้นที่แสดงออกและพัฒนาศักยภาพของตนเอง และได้เผยแพร่ผลงานกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์จนเกิดความภาคภูมิใจและเกิดพลังในการพัฒนาตนเองและแบ่งปันกับสังคมต่อไป"


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


นอกจากยุทธศาสตร์ 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ไปใช้ได้แล้ว การทำพื้นที่สร้างสรรค์ ศศิกานต์ พืชขุนทด รองผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มองว่า ควรมีองค์ประกอบ 4 อย่าง หนึ่งคือตัวเด็กและเยาวชน มีพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ มีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และสุดท้ายต้องมีสื่อที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม สื่อ หรือคน ล้วนทำให้เกิดการเรียนรู้


'เพชรบุรี ดีจัง' อัศจรรย์ปิดเทอมเติมโลกเรียนรู้วัฒนธรรม thaihealth


"กิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ควรทำอยู่แล้วและไม่ได้ทำแค่ปิดเทอม เราทำได้ตลอด แต่ปิดเทอมจะดีเพราะเขาจะมีช่วงเวลามากขึ้น มากกว่าเวลาปกติที่อาจต้องเรียนเป็นหลัก ซึ่งเด็ก ๆ ในโครงการพื้นที่ดีจังของเราส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมปิดเทอมของเขากันเอง เช่น เด็กชุมแพ เขาวางแผนจะปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางในช่วง ปิดเทอม ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่เป็นแกนนำเพชรบุรี อย่างหนูแดง วันแรกเขามากันแบบใส ๆ จากช่วยของยกของ ขยับมาเป็นคนวางแผน ออกแบบงานด้วยกลุ่มของเขาเอง วิธีคิดก็เปลี่ยนไป จากแค่มาทำกิจกรรมเวลาว่าง กลายเป็นเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา เขารู้ว่าเขาจะทำอะไรต่อ เขาเริ่มมีเป้าหมายชีวิต เราก็ทึ่งนะว่ากิจกรรมมันทำให้เด็กเปลี่ยนได้ขนาดนี้ แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคน เพราะบางกลุ่มเขาเข้ามาเรียนรู้แล้วไม่ใช่เขาก็ไป แต่เราเจอเด็กแบบกลุ่มหนูแดงในหลายพื้นที่ดีจัง ทาง สสส.เองก็พยายามนำกระบวนการพัฒนาศักยภาพเขาเพิ่มเพราะสิ่งที่เขารู้แค่นั้นอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเติมเขาให้เห็นมุมมองมิติอื่น ๆ เช่น สังคมภาพใหญ่หรือสังคมโลก เพื่อเชื่อมกับสิ่งที่เราทำให้ได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในโลกนี้" ศศิกานต์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code