เฝ้าระวัง “โรคไข้เลือดออก” นอกฤดู
“กรมควบคุมโรค” คาดการณ์ผู้ป่วยไข้เลือดออกปี 2558 ประมาณ 6 – 7 หมื่นราย ส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุ 15–24 ปี เผยต้นปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 5 พันรายแล้ว ช่วงนี้ “ฝนตก น้ำขัง ระวังยุงลายวางไข่”
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยช่วงต้นปี 2558 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 มีนาคม 2558) พบผู้ป่วยจำนวน 5,571 ราย เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.05 กลุ่มอายุที่อัตราป่วยสูงสุด คือ 10-14 ปี (25.48 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ 5-9 ปี (19.46 ต่อประชากรแสนคน) และ 15-24 ปี (15.36 ต่อประชากรแสนคน) ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ นักเรียน ร้อยละ 43.85 รองลงมาคือ รับจ้าง ร้อยละ 22.76 ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตลอดทั้งปี 2557 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 40,278 ราย เสียชีวิต 41 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.10
กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และสำนักระบาดวิทยา ได้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ย้อนหลัง ทบทวนรายงานการเปลี่ยนแปลงของไวรัสเดงกี่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้อนุกรมเวลา และวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ระดับอำเภอ เพื่อดูแนวโน้มของการเกิดโรคไข้เลือดออกในปี 2558 จากการวิเคราะห์ สรุปได้ดังนี้ ในปี 2558 คาดว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ประมาณ 60,000 – 70,000 ราย และคาดว่าจะพบผู้ป่วยเสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 0.11 นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราการป่วยสูงสุดน่าจะอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปีและ 10-14 ปี ตามลําดับ และมีแนวโน้มอัตราการป่วยในกลุ่มวัยผู้ใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนกลุ่มอาชีพที่พบมากสุดส่วนใหญ่คาดว่ายังคงเป็นกลุ่มนักเรียน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้มีฝนตกประปรายในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ ภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด ซึ่งน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน และขอความร่วมมือประชาชนในการกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน หรือป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ตามแหล่งน้ำสะอาด ซึ่งเป็นวิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดี
โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์นี้มีฝนตก ทำให้เกิดน้ำขัง ต้องระวังยุงลายวางไข่ จึงขอแนะนำหลักในการปฎิบัติ ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย โปรดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับให้เป็นที่เกาะพักของยุง ภาชนะเก็บน้ำเก็บให้เป็นระเบียบง่ายต่อการใช้งาน 2.เก็บขยะและเศษภาชนะรอบๆ บ้าน ที่ทิ้งไว้ แม้กระทั่ง ใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ต้องเก็บกวาด ฝังเผา หรือทำลาย 3.เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ภาชนะรองรับน้ำที่น้ำมาใช้ต้องสังเกตดูว่ามีรอยไข่ยุงลายดำๆติดอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะไข่ยุงลายสามารถติดทนนานอยู่บนขอบภาชนะเหล่านั้นได้นานนับปี หากพบก็ใช้ผ้านุ่มๆ ชุบน้ำขัดออกหรือจะใช้แปรงขัดล้างทั้งภาชนะเททิ้งไปพร้อมน้ำบนพื้นดินก็ได้ 4. การป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้าจุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุงหรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น และที่สำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ "เริ่มต้นที่บ้านคุณ" โดยต่างคนต่างช่วยกันดูแลบริเวณบ้านของตนเอง ทั้งในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย การป้องกันยุงกัด และการรักษาความสะอาดรอบๆบริเวณบ้าน เป็นต้น
“โรคไข้เลือดออก ทำให้เสียชีวิตได้ หากละเลยต่อการรักษา ส่วนอาการของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน(ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที ที่สำคัญโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ เมื่อป่วยแล้วแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งช่วงที่อันตรายของโรค คือ ช่วงที่ไข้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก ซึ่งหากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เนื่องมาจากมาพบแพทย์ช้าเกินไปในช่วงที่ไข้ลดแล้วช็อกนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อป่วยเป็นไข้สูงเกิน 2 วัน อย่านิ่งนอนใจรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต