เฝ้าระวัง “โรคสุกใส” ป่วยแล้วกว่า 7.9 หมื่นราย
สสจ.ทั่วประเทศเฝ้าระวัง "โรคสุกใส" สธ.ชี้แพร่ระบาดตลอดฤดูหนาว รอบ 11 เดือน ป่วยแล้วเกือบ 80,000 ราย เฉลี่ยวันละ 244 ราย เสียชีวิต 1 ราย แพทย์เผยสัญญาณป่วยปีนี้สูงร้อยละ 37 แนะจับตาเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และคนไข้เรื้อรัง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้ โรคที่มีความเสี่ยงจะระบาดได้ง่ายคือ โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อชนิดนี้ชอบสภาพอากาศเย็นชื้น ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน
สำนักระบาดวิทยาระบุว่า ขณะนี้ มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 79,301 ราย เฉลี่ยวันละ 244 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 7-24 ปี จำนวนผู้ป่วยมากกว่าปี 2556 ตลอดทั้งปีร้อยละ 37 เป็นสัญญาณว่าโรคอาจแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ได้ ประชาชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคทุกวัยมีโอกาสป่วยได้ สำหรับกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ หากติดเชื้อแล้วอาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะในปีนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว 2,574 ราย มากกว่าปี 2556 ที่มีเพียง 1,712 รายเท่านั้น จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella) เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายทางการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัส รวมทั้งการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น หลังติดเชื้อ 2-3 สัปดาห์ จะมีอาการป่วย หากเป็นเด็กเล็กจะเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
ส่วนผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้หรือขึ้นหลังมีไข้ 1 วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย ในระยะแรกจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มใส และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขุ่นคล้ายหนองแล้วกระจายไปตามใบหน้า แผ่นหลัง และช่องปาก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน ผื่นจะตกสะเก็ด โดยอาการจะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์
"โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ใช้วิธีการดูแลประคับประคองอาการที่บ้านได้ เช่น กินยาพาราเซตามอลลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัว กินอาหารตามปกติ พักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ และไม่ควรกินยาแอสไพริน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไรย์ ซินโดรม (Reye s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้" นพ.โสภณกล่าว และว่า โรคนี้ป้องกันได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนผื่นขึ้น 1-2 วัน จนถึงระยะผื่นตกสะเก็ด วิธีการป้องกันไม่ให้เชื้อติดคนอื่นที่ดีที่สุดคือ ให้หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมดแล้วอย่างน้อย 1 วัน การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือฉีดวัคซีน
ที่มา: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต