เฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


เฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย thaihealth


แฟ้มภาพ


สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7  จังหวัดขอนแก่น  แนะประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7  ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น     มหาสารคาม     ร้อยเอ็ด     และกาฬสินธุ์     ให้เฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา แนะประชาชนเฝ้าสังเกตอาการหากมีไข้สูงฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างหนึ่งอย่างใดคือ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก  ปวดตามข้อ ปวดกระบอกตา   ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว


นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7  จังหวัดขอนแก่น   เปิดเผยถึงรายงานในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 19 ตุลาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ทั้งสิ้นจำนวน 8,539 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โรคนี้พบได้ทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี และ 35 – 44 ปี ประเทศไทยพบจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรสูงคือ จังหวัดปัตตานี ระนอง และตาก สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อที่นำโดยยุงลายบ้านและยุงลายสวน ประกอบกับระยะนี้มีฝนตกในบางพื้นที่ และเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ที่นอกจากจะเป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว ยังเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอีกด้วย ลักษณะอาการผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ตาแดง มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี เนื่องจากโรคไข้ปวดข้อยุงลายมีอาการไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก จึงทำให้ประชาชนไม่ให้ความสำคัญ และไม่มีการรายงานในระบบการรักษา ทำให้ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไม่ได้ถูกควบคุมหรือกำจัด เป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่องในชุมชนไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นหากประชาชนมีอาการดังกล่าว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว


ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7  จังหวัดขอนแก่น  กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาไม่มียารักษาเฉพาะ จึงต้องใช้วิธีรักษาตามอาการ และมีการแพร่ระบาดได้ง่ายในชุมชนที่มีผู้ป่วย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประชาชนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ 3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน และที่สำคัญต้องป้องกันการถูกยุงกัด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย นอนในมุ้ง หรือทายากันยุง ทั้งนี้เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการสงสัยดังกล่าวข้างต้นขอให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ