เฝ้าระวัง“มือเท้าปาก”เด็กเล็ก
ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“สำนักอนามัย กทม.”เตรียมระวัง“มือเท้าปาก”ระบาด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ชี้ครึ่งปียอดผู้ป่วยพุ่ง 6 พันคน
นางดวงพร ปิณจีเสคิกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.59 พบว่ามีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในกรุงเทพฯ กว่า 6 พันราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว โดยปัจจัยที่ทำให้โรคมือเท้าปากระบาดเพิ่มขึ้นนั้น มาจากปริมาณฝนที่ตกลงมาจำนวนมาก ทำให้อากาศค่อนข้างเย็น เชื้อโรคจึงอยู่ในธรรมชาติได้นาน ทำให้เด็กๆ ที่สัมผัสกับสิ่งของต่างๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและมากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีโรงเรียนในกรุงเทพฯ ปิดโรงเรียนบางส่วนหรือทั้งหมดรวม 110 กว่าแห่ง โดยพบว่าผู้ป่วยกว่า 6 พันรายมีจำนวน 85 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กเล็กวัย 0-4 ปี ซึ่งหากกลุ่มนี้ไปโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก หากสถานที่นั้นไม่ได้มีการคัดกรองเด็กๆ หรือแยกเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก ก็จะเพิ่มโอกาสที่เด็กคนอื่นๆ จะรับเชื้อไปได้
ทั้งนี้ อาการของโรคมือเท้าปากเบื้องต้นจะคล้ายกับโรคหวัด จะมีไข้ เด็กงอแงอาจจะมีตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นที่มือ ที่ปาก หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกัน แต่สำหรับเด็กที่มีแผลในปากจะมีอาการเจ็บ มีน้ำลายไหลย้อย และรับประทานอาหารได้ยาก จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์อาการก็จะดีขึ้น แต่ถ้าเด็กที่มีอาการของโรครุนแรงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งโรคมือเท้าปากจะติดเชื้อกันจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง อุจจาระ หรือจากของเล่นที่ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยที่ได้ถูกสัมผัสต่อจากเด็กคนอื่น อย่างไรก็ตามโรคมือเท้าปากที่ทางการแพทย์กังวลคือ กรณีบางเชื้อจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบ จนทำให้เด็กเสียชีวิตได้ แต่ขณะนี้ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีรายงานว่ามีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้
“วิธีสังเกตเด็กถ้ามีอาการไข้สูง เด็กซึม รับประทานอาหารได้ยาก เด็กบ่นปวดหัวมาก หายใจหอบ เหนื่อยเร็ว เป็นอาการที่ผู้ปกครองอย่าไว้ใจ ควรจะพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งโรคมือเท้าปากเป็นการรักษาเฉพาะตามอาการที่พบ ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่รักษาโรคมือเท้าปากโดยตรง เช่น ถ้าเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ถ้ารับประทานยากก็อาจจะให้น้ำเกลือแทนได้ ที่สำคัญควรจะให้เด็กๆ ฝึกอนามัยส่วนตัว ทั้งการล้างมือบ่อยๆ หรือของใช้ส่วนตัวต้องมีการแยกไม่ให้ปนกับผู้อื่น หรือถ้าเด็กป่วยจริงๆ ต้องให้เด็กอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายดี” นางดวงพร กล่าว