เฝ้าระวังมาลาเรียระบาด 7 จังหวัดใต้

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนพบผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2555  รวม 2,887 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่อัตราการป่วยสูงสุดคือ ระนอง และ ชุมพร สำหรับสถานการณ์ในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1– 12 ม.ค.  พบผู้ป่วยแล้ว 25 ราย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ สุราษฎร์ธานี และระนอง           

“โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชัน มีลำธาร โดยยุงก้นปล่องจะกัดชาวบ้านหรือผู้ที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ในกระแสเลือด ทำให้เชื้อเข้าไปเจริญ ในตัวยุง และเมื่อยุงมากัดคนต่อไปเชื้อมาลาเรียจะเดินทางจากยุงเข้าสู่กระแสเลือดของ ผู้ถูกยุงกัดทันที และจะแสดงอาการป่วยหลังโดนกัดประมาณ 2 สัปดาห์ มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วเพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้” นพ.ภาณุมาศ กล่าว            

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนที่เป็นเจ้าของสวนยางพารา และนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานแปลกหน้าเข้ามากรีดยางหรือทำงานอื่นๆ ขอให้พาแรงงานเหล่านั้นไปรับการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อน เพื่อป้องกันตนเองและคนในสังคม เพราะโรคมาลาเรียรักษาให้หายขาดได้ โดยกินยาจนครบ ส่วนวิธีการป้องกันทำได้โดยการนอนกางมุ้งและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด การใช้ยาทากันยุงหรือยาจุดกันยุง หากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงหรืออยู่ในป่าเขาให้ใช้มุ้งชุบสารเคมี ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในเวลาอันสั้น แต่มุ้งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน ที่สำคัญเมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว มีไข้ อย่ารอต้องรีบไปเจาะเลือดตรวจหาเชื้อและขอให้ กินยาจนครบถ้วนเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ