เฝ้าระวังปัญหาเด็กอ้วนในวัยเรียน

/data/content/25942/cms/e_ehlmnpxyz125.jpg


          กทม.สั่งการให้ 438 โรงเรียนในสังกัดทำโปรแกรมเฝ้าระวัง ทั้งห้ามร้านค้าขายขนมหวาน-น้ำอัดลม เตือนคนกรุงเสี่ยงสูงป่วยเครียด เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง แนะออกกำลังกายทุกวัน


          นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกทม. เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เซอร์ไมเคิล เฮิร์สท์ (Sir Michael Hirst) ประธานสมาพันธ์เบาหวานโลก หรือไอดีเอฟ (International Diabetes Federation-IDF) พร้อมคณะ ได้เข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานเพื่อลดภาระโรคเบาหวานและโรคเรื้อรัง ในกทม.ซึ่งไอดีเอฟเป็นองค์กรอิสระที่มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานจาก 159 ประเทศเป็นสมาชิก โดยเมื่อเดือนธันวาคมปี 2549 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับโรคเบาหวานเป็นปัญหาของโลกที่แต่ละประเทศต้องจัดการเพื่อลดภาระโรคเบาหวานในประเทศของตน


          นพ.พีระพงษ์  กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานในพื้นที่กทม. พบว่า มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พบอัตราการป่วยเป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ 9 สาเหตุมาจากโรคอ้วน กทม.จึงได้มีโปรแกรมเฝ้าระวังในกลุ่มเด็ก โดยมอบหมายให้โรงเรียนในสังกัดทั้ง 438 แห่ง ดำเนินการ หากพบเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์และเข้าข่ายจะเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน ให้เข้าไปดูแลจัดโปรแกรมควบคุมอาหารและออกกำลังกายทันที นอกจากนี้ ยังควบคุมร้านค้าในโรงเรียนไม่ให้จำหน่ายขนมหวานและน้ำอัดลม ส่วนการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ก็ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสังกัด กทม. สร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วย โดยร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 68 แห่ง ร่วมกันดูแลอย่างครบ 


          รองปลัดกทม.กล่าวต่อว่า ประชาชนที่อาศัยในกทม. ซึ่งเต็มไปด้วยมลภาวะ มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคเครียด เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ได้มากกว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัด จึงขอให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพตัวเอง หาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ซึ่ง กทม. ก็ได้พยายามส่งเสริมให้ข้าราชการและลูกจ้าง กทม. ออกกำลังกายในเวลาว่างด้วย


 


          ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code