เฝ้าจับตาคนสูงวัยเสี่ยงฆ่าตัวตาย

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


เฝ้าจับตาคนสูงวัยเสี่ยงฆ่าตัวตาย thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิตขอเวลาคนไทยเพียง 1 นาที ใส่ใจ ห่วงใยคนใกล้ชิด ป้องกันการฆ่าตัวตาย เผยเฝ้าระวังชายไทยและสูงวัยในภาคกลางเป็นพิเศษ


นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และผู้บริหารกรมสุขภาพจิต เปิดงานเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2560 (World Suicide Prevention Day) ภายใต้แนวคิด “Take a minute, change a life : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน” โดยนาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการฆ่าตัวของคนไทยอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน โดยพบว่าภาคเหนือยังคงฆ่าตัวตายสูง และปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งขณะนี้มีการจับตาเฝ้าระวังชายไทยวัยแรงงานในพื้นที่ภาคกลางและผู้สูงวัยเป็นพิเศษ แนะใช้ แอปพลิเคชัน Sabaijai ประเมินผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พร้อมแนวทางการช่วยเหลือ


          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 340 คน หรือทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปี (2557-2559) พบประเด็นน่าสนใจที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ได้แก่ ภาคเหนือยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ปี 2559 อยู่ที่ 10.54 ต่อประชากรแสนคน มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง จาก 5.78 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 ส่วนภาคกลางเป็นภาคที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ จาก 4.97 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ขยับขึ้นเป็น 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า 13 ต่อประชากรแสนคน ได้แก่ จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด และลำปาง ซึ่งจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ อยู่ที่ 14.35 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่กำแพงเพชรเป็นจังหวัดใหม่ที่เพิ่มมาเป็น 10 อันดับแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด และเป็นที่น่าสนใจว่า จังหวัดลำพูน จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศติดต่อกัน 2 ปี ปรับลดลำดับเป็นอันดับที่ 7 ประเทศ ในปี 2559 ทั้งนี้ สธ.ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2564 ทั้งนี้ โดยเน้นเฝ้าระวังในเขตภาคกลางมากขึ้น เนื่องจากพบว่าชายวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.55 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ 75-79 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.11 ต่อประชากรแสนคน


          นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกคนช่วยได้ ดังคำขวัญรณรงค์ปีนี้ว่า “Take a minute, change a life. : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน” โดยพบว่าหากเทียบในประเทศอาเซียน ประเทศไทยถือว่าปัญหาดังกล่าวอยู่ในระดับกลางๆ โดยประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา มีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยกว่าไทย และประเทศที่มากกว่า เช่น ประเทศสิงคโปร์ แต่หากเทียบกับประเทศแถบยุโรป อเมริกา ประเทศไทยถือว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่ามาก เพราะประเทศเหล่านั้นมีอัตราการฆ่าตัวตายกว่าสิบคนต่อแสนประชากร


          อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ด้วยการใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง มองส่องตนเองและคนใกล้ชิด ค้นหาสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่าอยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ การรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่งการกล่าวคำว่าขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจ ซึ่งเวลาแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน หากขอเพียง 1 นาที หันกลับมาฟัง เพียง 1 นาที หันกลับมาให้กำลังใจ ชีวิตจะเปลี่ยนแปลง และอาจใช้เวลานี้โทร.มาปรึกษาขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจนสามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือได้ที่แอปพลิเคชัน Sabaijai ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ android และ ios” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว


          นพ.ณัฐกร กล่าวว่า จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในการเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตาย พบว่าช่วงที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ ช่วง มี.ค.-เม.ย. และมีแนวโน้มว่าจะสูงในช่วงดังกล่าวไปอีก 4-5 ปี โดยพบว่าช่วงวัยที่มีการฆ่าตัวตายสูงคือ วัยทำงาน 35-39 ปี รองลงมาคือ วัยผู้สูงอายุ 75-79 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเชื่อมโยงและปัจจัยว่าทำไมถึงสูงในช่วง 2 นี้


          เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อลดการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลดจำนวนอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 6.0 คนต่อหนึ่งแสนประชากร ในปี 2564 และป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุในอนาคตที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ


นพ.ณัฐกร กล่าวว่า สำหรับการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องใหม่ พบว่ามีอัตราสูงติดต่อกันมาประมาณ 10 ปี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ตระหนักในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดี คัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความคิดบวก เห็นคุณค่าในตัวเอง ทั้งนี้ พบว่าผู้สูงอายุมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ถูกละเลยความสนใจ ซึ่งเราก็ต้องมีการกระตุ้นสังคมให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมทั้งอาจต้องมีความเข้าใจกับลูกหลาน ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ให้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดของผู้สูงอายุว่ามีความอ่อนไหวในเรื่องของอารมณ์ ไม่สามารถปรับตัวได้ดีเท่ากับวัยทำงานและวัยอื่น.


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code