เผย “หลักสูตรการศึกษา” ไม่สอดคล้องอาชีพแห่งความเป็นจริง

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เผยข้อมูล เยาวชนว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่ 5.3 เท่า พบเด็กตกงาน 36 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สะท้อนปัญหา “หลักสูตรการศึกษา” ไม่สอดคล้องอาชีพแห่งความเป็นจริง ที่ต้องการทักษะและการปฏิบัติ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “เยาวชนกับการจ้างงาน” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ilo ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมาเป็นผู้นำเสนอข้อมูล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม อาทิ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และเยาวชน 

นายมัตทิเยอ คอนยัก ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า พบข้อเท็จจริงของเยาวชนในโลก 73 ล้านคน เป็นคนตกงาน 36 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และมีอัตราการว่างงานของเยาวชนโดยเฉลี่ยมีโอกาสว่างงานสูงกว่าผู้ใหญ่สูงถึง 5.3 เท่า ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการว่างงานของเยาวชนต่ำเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและพบว่าประเทศไทยมีสถานประกอบการนอกระบบขนาดใหญ่จำนวนมาก ส่งผลให้เยาวชนมีโอกาสที่จะถูกจ้างให้ทำงานที่ไม่เหมาะสม งานที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีกลไกปกป้องทางสังคมที่เข้มแข็ง เยาวชนจึงถูกบังคับให้ทำงานนอกระบบ และหลายๆ คนทำงานแลกกับรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงชีวิต ดังนั้น ความท้าทายของปัญหาไม่ใช่แค่การสร้างงาน แต่ยังรวมถึงงานที่มีศักดิ์ศรีและค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วย

“สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือศูนย์ฝึกอาชีพไม่สอดคล้องกับความต้องการของตำแหน่งงานในตลาดที่ผ่านมาพบว่ามีเยาวชนผู้ด้อยโอกาสอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหลักสูตรที่สร้างเสริมทักษะ ทั้งยังขาดการอบรมให้ความรู้และการแนะแนวอาชีพในรูปแบบต่างๆ บางครั้งเยาวชนอาจมีทักษะ แต่ไม่ได้นำมาใช้กับการทำงานของตน ขณะเดียวกันเยาวชนจำนวนมากขวนขวายเพื่อให้ได้ปริญญาหรืออนุปริญญา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตลาดแรงงานหรือผู้ประกอบการต้องการ หนทางแก้ไขคือการส่งเสริมให้เยาวชนสั่งสมประสบการณ์การทำงานไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ผ่านโครงการฝึกอบรมหรือการฝึกงาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือสถานศึกษาควรมีหลักสูตรที่สอนให้เยาวชนได้ทราบถึงการเป็นผู้ประกอบการเป็นอย่างไร ไม่ใช่การสอนให้เขารู้แค่การประกอบอาชีพ เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานเท่านั้น พร้อมทั้งปลูกฝังให้ตระหนักถึงสิทธิของตนในที่ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในทุกรูปแบบ”

ด้าน ดร. วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงจนคาดการณ์ไม่ทัน เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนการตลาด การค้าขายก็ต้องเปลี่ยน ดังนั้น การศึกษาก็ต้องได้รับผลกระทบเช่นกัน และถ้าจะพูดถึงอัตราการว่างงานของเยาวชนไทยใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเยาวชนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา และกลุ่มเยาวชน อายุ 12-16 ปี จบการศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นอายุระหว่าง 15-24 ปี เยาวชนที่จบมหาวิทยาลัยมีอัตราการตกงานมากกว่า เพราะเมื่อจบการศึกษาช่วง 5 ปีแรกเป็นการแสวงหางาน เปลี่ยนงานบ่อย ค่าตอบแทน ประกอบกับนายจ้าง สถานประกอบการก็ต้องการแรงงานที่ประสบการณ์มากกว่าคนจบใหม่

“เยาวชนต้องได้รับการศึกษาที่สร้างให้เกิดทักษะตั้งแต่เกิด โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กปฐมวัย ทั้งในเรื่องงบประมาณและหลักสูตรการเรียนรู้ ที่ควรปรับลดเนื้อหาวิชาการลง คงไว้เฉพาะพื้นฐานที่จำเป็น เพราะเยาวชนสามารถค้นหาข้อมูลได้ผ่านโลกออนไลน์ ฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรจัดหลักสูตรการศึกษาที่มีหลายทางเลือกเพื่อตอบสนองให้ได้ทั้งเด็กเก่ง เด็กธรรมดา เป็นเส้นทางการเรียนที่เหมาะสมกับเด็กทุกกลุ่ม”

นางพัชภัสสร เสนทับ พระ ครูโรงเรียนสุรนารีวิทยา กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาไทยบางครั้งสอนไป ก็ไม่ได้นำมาใช้ โรงเรียนจึงควรปรับหลักสูตรให้เหมือนมหาวิทยาลัยปิด คือ ปรับบางรายวิชาให้เหมาะกับเด็กจำนวน 50-60% ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ส่วนอีก 40% ที่จบระดับ ม.3 หรือ ม.6 ก็ปรับหลักสูตรให้เป็นแบบผสมผสานสอนทั้งสายสามัญและอาชีพ โดยทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวะของจังหวัดให้เด็กเรียนทั้ง 2 สายไปพร้อมๆ กัน เมื่อเด็กจบ ม.6 ก็จะได้วุฒิการศึกษา ปวช.ด้วย โดยมีข้อแม้ว่าเด็กจะต้องได้ฝึกภาคปฏิบัติ ดังนั้น เด็กก็จะมีหลายเส้นทางการเรียนรู้และทางเลือกที่หลากหลายคือไปศึกษาต่อ ปวส. เข้ามหาวิทยาลัย หรือออกไปทำงานก็ได้

ดร.ไพเราะ สุวภาพ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องให้เด็กมีทักษะอย่างคนที่มีประสบการณ์การทำงาน แต่การจัดการเรียนการสอนปัจจุบันไม่สามารถฝึกให้นักเรียนทำงานได้ตามสถานประกอบการต้องการ ยิ่งสถาบันอาชีวะยังคงถูกมองในด้านลบ ผู้ปกครองและเด็กจึงไม่เลือกมาเรียนอาชีวะ จึงอยากให้สายสามัญและสายอาชีวะจับมือกันเพื่อร่างหลักสูตรกลางร่วมกัน โดยเชิญสถานประกอบการมาเติมเต็ม อยากบอกสังคมว่าเด็กอาชีวะน่ารัก ร้ายก็มี ดีก็มี  และที่สำคัญไม่อยากให้แยกเด็กเก่งออกจากเด็กไม่เก่ง แต่ควรจัดให้เด็กเรียนแล้วช่วยเหลือซึ่งกันมากกว่า

นายศรันย์ ลิ่วเกษมศานต์ ตัวแทนเด็กและเยาวชน กล่าวว่า อยากให้ตัดเนื้อหาสาระบางวิชาลงและให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกการคิดวิเคราะห์ วางแผน เพราะจากประสบการณ์เมื่อเปรียบเทียบการจัดการศึกษาของต่างประเทศและของประเทศไทยในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เห็นชัดมากว่าวุฒิภาวะของเพื่อน บรรยากาศ การแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน นั้นแตกต่างกัน อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกามีการทดสอบเด็กก่อนเข้าชั้นเรียน เด็กเก่ง ไม่เก่งก็จะได้เรียนเหมือนกัน และมีทางเลือกให้ด้วย ไม่ทำให้เด็กเบื่อ

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เยาวชนเครือข่ายยุวทัศน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรเยอะไป เรียนแต่วิชาการ แต่ปฏิบัติไม่ได้ การที่เด็กส่วนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่อยากเป็น อาชีพที่ต้องการในอนาคต เช่น วิชาฟิสิกส์ เป็นวิชาที่ยากมากแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เลยเมื่อไปประกอบอาชีพ อีกประเด็นที่มีผลกระทบคือการแบ่งชั้นเรียนเป็นห้องคิงส์ ห้องบ๊วยอยากให้เลิก เพราะความเก่งอาจจะไม่ใช้แค่วิชาการอย่างเดียว เขาอาจจะเก่งด้านอื่นและสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

 

Shares:
QR Code :
QR Code