เผยเด็กไทย ระบายความทุกข์ด้วยการกิน

          สธ. เผยผลวิจัย เด็กไทยยังดื่มน้ำอัดลม และขนมหวาน รับประทานอาหารจานด่วน พบเมื่อมีความทุกข์จะระบายอารมณ์ด้วยการกิน ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโภชนาการเกิน และโรคอ้วน


/data/content/24459/cms/e_bcdklvxy3569.jpg


          นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่าวันที่ 28 พฤษภาคมของ ทุกปี กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ความสำคัญกับสุขภาพเด็ก ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสมอง เป็นต้นทุนชีวิตของเด็ก ในการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียนอายุ 9-12 ปีทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2557 ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย อารมณ์สังคม และครอบครัว พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ 77%อยู่ในระดับปรับปรุง 18%โดยอยู่ในระดับดีเพียง 6%จากการสำรวจครั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ประการแรกคือด้านโภชนาการทุกภาคยังอยู่ในระดับพอใช้ และมีพฤติกรรมเสี่ยง คือเด็กยังดื่มน้ำอัดลม และขนมหวาน เช่น ชาเย็น น้ำแดง โกโก้ รับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไส้กรอก ประการที่สองคือด้านอารมณ์ พบว่าเมื่อนักเรียนมีความทุกข์จะระบายอารมณ์ด้วยการกิน ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโภชนาการเกิน และโรคอ้วนตามมาภายหลัง


          ส่วนในด้านของสุขภาพอนามัย พบว่าเด็กนักเรียนในภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพ มีพฤติกรรมอยู่ในระดับดีมากที่สุด เช่น การดูแลความสะอาดร่างกาย การแปรงฟัน การล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับพอใช้มากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการปลูกฝังสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย โดยในปีนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ร่วมมือกับสมาคมสุขศึกษาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพงานสุขศึกษาในสถานศึกษาให้มีมาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษา โดยจัดอบรมครูผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 185 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบด้านอนามัยและสุขศึกษาทั่วประเทศ เน้นหนักเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการให้ใช้จริงในชีวิตประจำวันของเด็ก และจะประเมินผลที่สุขภาพของเด็กโดยตรง เช่น ฟันไม่ผุ เล็บมือเล็บเท้าสั้นสะอาด น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นต้น


          ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กองสุขศึกษา ได้จัดทำนวัตกรรมชุดจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพในโรงเรียน ประกอบด้วย เอกสารแผ่นพับ ซีดี บัตรคำ และคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สุขบัญญัติแห่งชาติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และคู่มือการสร้างสุขภาพเด็กไทย เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนเกิดความสนใจอยากเรียนรู้เรื่องสุขภาพ และปฏิบัติตามสุขบัญญัติข้อ 1-10 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประกอบไปด้วย 1.การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3.การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย 4.การกินอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5.การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6.การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.การป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท 8.การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9.การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคม การปฏิบัติสุขบัญญัติจนเป็นนิสัยจะทำให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา


 


 


         ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code