เผยสถิติอุบัติเหตุทางถนน แนวโน้มดีขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
สอจร.และภาคีเครือข่าย เผยสถิติสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทยปี พ.ศ.2555 (2014) คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง องค์การอนามัยโลกพอใจการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุ
Mr.Liviu Vendrasco ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การป้องกันอุบัติเหตุหรือการทำให้ประชากรโลกปลอดภัยเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 (Sustainable Development Goal 3) ของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก และต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง จากที่เป็นอยู่ 1.2 ล้านคน ภายในทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ตนเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุ เพราะฉะนั้นจึงมีเสาหลักการทำงานให้กับนานาประเทศ 5 เสา และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการแก้ไข จึงกำหนดให้การลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ภายในปี 2020 ในส่วนของประเทศไทยมีรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนปี 2015 ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่ 24,237 คน
ประเทศไทยมีสัดส่วนการเสียชีวิตของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถึง 3 ใน 4 สัดส่วนของผู้เสียชีวิตอยู่ที่คนขี่จักรยานยนต์ ถึง 83% เทียบกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยสูงที่สุด รองลงมาคือ เมียนมาร์ ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ทำอะไร ก็เป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นมาเช่นกัน ประเทศไทยมีกฎหมายระบุอยู่แต่ ยังมีการละเมิดอยู่ในส่วนของการสวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ การคาดเข็มขัดนิรภัย ที่นั่งสำหรับเด็ก แม้เราจะมีเกณฑ์และกฎหมายที่ดีอยู่แล้ว แต่ยังมีเกณฑ์บางอย่างที่มีเป็นมาตรฐานของโลก กลับยังไม่มีปรากฏในกฎหมายไทย ยกตัวอย่างผลการประเมินตนเองของไทย เรายังสอบตกเรื่องการจำกัดความเร็ว ขณะที่เมาแล้วขับ คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย ไทยเราผ่านเกณฑ์
ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานองค์การอนามัยโลก เสนอแนะให้กับประเทศไทยได้นำมาบังคับใช้ในประเทศไทย ประกอบด้วย เรื่องการจำกัดความเร็ว ในเมืองควรเหลือเพียง 50 กม.ต่อ ชั่วโมง ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ขับรถ ต้องลดปริมาณในเลือดลงอีก การบังคับใช้กฎหมายต้องมีระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ มีการทำอย่างสม่ำเสมอ และมีแบบแผนการจับกุม ปรับ หรือลงโทษ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ควรทำอย่างการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่ทั้งคนขับคนซ้อน การคาดเข็มขัดนิรภัย และการใช้เบาะที่นั่งสำหรับเด็กต้องมีกฎหมายออกมาปกป้องเฉพาะพิเศษ
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านอุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงรายงานสถานการณ์โลกสู่รายงานสถานการณ์และการจัดลำดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยที่จัดทำโดย แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับภาคีต่างๆ ว่า เป็นเครื่องมือสำคัญให้กับภาคนโยบายและผู้ปฏิบัติจะได้มีข้อมูลด้านความปลอดภัยทางถนนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการบาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละจังหวัด รวมทั้งข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายที่จะช่วยชี้ให้เห็นช่องว่าง หรือความท้าทายที่สำคัญ
หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิบัติการขับเคลื่อน “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ร่วมกับสมาชิกองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ปี 2554 ได้วางเป้าหมายลดการตายลงร้อยละ 50 จากที่เป็นอยู่ตามแนวทาง 5 เสาหลัก ได้แก่ (1) การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง (2) การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและถนนที่ปลอดภัย (3) การจัดการยานพาหนะที่ปลอดภัย (4) ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ (5) ระบบการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจะพบว่า “เสาหลักที่ 5 ด้านการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุมีผลที่น่าพึงพอใจ แต่เสาหลักด้านอื่นๆ ยังประสบปัญหาโดยเฉพาะด้านบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย
ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 23,601 ราย ขณะที่ปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 21,429 ราย ลดลงถึง 2,172 ราย ประเทศไทยโดยรัฐบาลดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ดำเนินการจัดการตามเสาหลัก 5 ประการ ดังที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกขับเคลื่อน “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2554-2563” (Decade of Action for Road Safety 2011-2020) ซึ่งผลการประชุมระดับรัฐมนตรีทั่วโลกปี 2015 ชื่นชมระบบการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุของไทย
นายแพทย์วิทยา ชี้ให้เห็นว่า รายงานสถานการณ์ความสูญเสียจากการบาดเจ็บทางถนน (Global Status Report on Roads Safety 2015) คาดประมาณการตายจากการบาดเจ็บทางถนนของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย มีอัตราตาย 36.2 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า ที่สำคัญประเทศไทยตายจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ( 26 ต่อประชากรแสนคน) ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกทั่วโลก The 2nd Global Ministerial Meeting for Road Safety 2015 เน้นย้ำความสำคัญของเรื่องนี้และถือเป้นการติดตามผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยกำหนดประเด็นหลักคือ “Time for Result” หรือ “ระบบจัดการและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง” นำเป้าหมายทศวรรษเพื่อความปลอดภัยทางถนนบรรจุไว้เป็นเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goal: SDG)
นายแพทย์วิทยา ได้เสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐ ต่อสื่อมวลชน และประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องดังนี้ หน่วยงานภาครัฐ ต้องตระหนักว่าปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องมีความจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการบังคับใช้กฎหมาย จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องปรับระบบการเก็บและรายงานข้อมูลการสูญเสีย จากอุบัติภัยทางถนน จะต้องเร่งจัดตั้งหน่วยงาน หรือสถาบันทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานต่างๆ ที่ต่างแยกกันทำงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจน กำกับติดตามการดำเนินงานของทุกๆหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสื่อมวลชน ต้องตระหนักว่า ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต นำเสนอข้อมูลปัญหา ผลเสีย ผลกระทบ จากภัยบนท้องถนน สู่สังคม อย่างเข้มข้น รายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ เปิดช่องทางด่วนให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ประเด็นปัญหา ถูกถ่ายทอดทั้งต่อสังคม ให้รับทราบป้องกัน และต่อหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบให้แก้ไขความเห็น
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประชาชน ประชาคม สังคม ต้องตระหนักว่า ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดมีขึ้นในสังคม ช่วยกันสอดส่องความเสี่ยงที่มีอยู่ และถ่ายทอดสู่สังคม ผ่านสื่อสารมวลชน ติดตั้งกล้อง CCTV ในรถทุกคน เพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีหลักฐานสำคัญหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ดร.ศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร เปิดเผยผลการศึกษาว่า ปี พ.ศ.2557 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ 21,429 ราย ลดลงจาก พ.ศ.2555 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 23,601 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต เท่ากับ 32.90 รายต่อแสนประชากรลดลงจาก พ.ศ.2555 เท่ากับ 3.72 รายต่อแสนประชากร ผลรวมของจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด 1,128,384 ราย บาดเจ็บสาหัส 142,136 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 964,819 ราย ทำให้การเฉลี่ยทุกๆ 24 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตบนถนนอย่างน้อย 1 คน จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุ 3 ใน 4 หรือ 76% (857,572 คน) เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รองลงมาได้แก่ รถจักรยาน 8.8% (99,298 คน) และคนเดินเท้า 4% (45,135 คน)ที่เหลือประกอบด้วย รถบรรทุก รถตู้ รถยนต์ อื่นๆ สามล้อเครื่อง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถโดยสาร
กลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุสูงที่สุดตามอายุ คือ อายุ 15-24 ปี เป็น 1 ใน 4 ของผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ มีจำนวนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี รวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับใกล้กับคนอายุ 85-89 ปีร่วมอยู่ด้วย
ส่วนสถานการณ์รายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13.60 รายต่อแสนประชากร) ตามด้วย สตูล ยะลา ปัตตานี นนทบุรี แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู สมุทรสงคราม
จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง (74.73 ต่อแสนประชากร) ปราจีนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี เพชรบุรี ชุมพร ฉะเชิงเทรา ตาก และพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดที่มีการเพิ่มของอัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากร 10-20 คนต่อแสนประชากร ได้แก่ ปราจีนบุรี และ ยโสธร เพิ่มขึ้น 0-10 คนต่อแสนประชากร ได้แก่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา ตราด สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส
จังหวัดที่มีการลดของอัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากร ลดลงมากกว่า 20 คนต่อแสนประชากร ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ระนอง ภูเก็ต ยะลา ลดลง 10-20 คนต่อแสนประชากร ได้แก่จังหวัดเลย บึงกาฬ พิจิตร อ่างทอง สระบุรี นครนายก พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง
การสำรวจด้านมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ปี พ.ศ.2557 ปรากฏผลว่า
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “เมาแล้วขับ” มีจำนวน 52,066 ราย หรือ 99.3 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ เลย ระยอง นครนายก ขอนแก่น อุดรธานี นนทบุรี และนครสวรรค์
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ขับรถเร็ว” มีจำนวน 344,662 ราย คิดเป็น 670.77 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก นนทบุรี ชุมพร สมุทรปราการ ลำปาง ขอนแก่น ชลบุรี ชัยภูมิ สระบุรี ลำพูน และประจวบคีรีขันธ์
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ไม่สวมหมวกนิรภัย” มีจำนวน 1,322,351 ราย คิดเป็น 2,515.01 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก เพชรบุรี ภูเก็ต ชลบุรี อ่างทอง สระบุรี พะเยา สุรินทร์ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา และชัยภูมิ
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” มีจำนวน 331,598 ราย คิดเป็น 683.36 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ตราด ชลบุรี เลย ชัยภูมิ สุพรรณบุรี ลำพูน และน่าน
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ขับรถย้อนศร” มีจำนวน 136,675 ราย คิดเป็น 273.66 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครนายก และภูเก็ต
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร” มีจำนวน 194,838 ราย คิดเป็น 374.39 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก นนทบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ เลย สุรินทร์ น่าน นครนายก และเชียงใหม่
จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่” มีจำนวน 55,575 ราย คิดเป็น 129.38 รายต่อแสนประชากร จังหวัดที่จับกุม ปรับและดำเนินคดี มากที่สุด 10 อันดับแรก ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครนายก สระบุรี สุรินทร์ นนทบุรี สมุทรปราการ ชัยภูมิ สมุทรสาคร และมุกดาหาร
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ กล่าวว่า สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำหน้าที่สนับสนุนภาคีเครือข่ายเสมือนท่อน้ำเลี้ยง ร่วมกับการเสริมข้อมูลทางวิชาการ เป็นองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชนประชาสังคม สำหรับเรื่องอุบัติเหตุ ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เป็นเรื่องยากและซับซ้อน เพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่มีพลัง เรียกว่า 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ เหลี่ยมแรกสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน เหลี่ยมที่ 2 ภาคประชาสังคม (มูลนิธิเมาไม่ขับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น) และเหลี่ยมที่ 3 เชื่อมกับนโยบาย (ด้านการแก้กฎหมาย ตั้งงบประมาณ ผ่านส่วนราชการต่างๆ) เป็นยุทธศาสตร์ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา มาตั้งแต่ปี 2544 ทำงานกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ยกตัวอย่างแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด เทียบกับการสูญเสีย เราใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเทียบกันไม่ได้แม้แต่น้อยกับการสูญเสียทางอุบัติเหตุที่สูญเสียปีละกว่า 5 แสนล้านบาท
รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2557 จัดทำขึ้นโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับภาคีต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้สนับสนุนให้มีการรณรงค์ในภาคประชาชนระดับจังหวัดควบคู่กับการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด สำหรับข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2557 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.rswgsthai.com