เผยสถิติคนไทยติดเค็ม ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคน

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์


เผยสถิติคนไทยติดเค็ม ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคน  thaihealth


เเฟ้มภาพ


แพทย์เผยสถิติคนไทยนิสัยติดเค็ม ป่วยโรคไตเรื้อรังพุ่ง 8 ล้านคน ระบุอาหารยอดนิยม “เนื้อและหมูหมักเกาหลี" ใส่ซอสปรุงรส ชี้เค็มกว่าปกติ 5-10 เท่า สปสช. จัดงบปี 63 ดูแล 9.4 พันล้านบาท


เมื่อวันที่ 18 ก.พ. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดงานกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2563


นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าไวรัสโควิด-19 และฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งนี้ปัญหาสืบเนื่องมาจากนิสัยคนไทยยังคงติดกินเค็มเกินความพอดี จนเกิดเป็นโรคไตและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องรณรงค์เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง


สถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น  สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย จึงเน้นการชะลอความเสื่อมของไตเพื่อให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไตช้าลง


นพ.ประพนธ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กด้วยสาเหตุหนึ่งคือ การกินเค็มจากฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น เนื้อหมัก หมูมักใส่ซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5-10 เท่า อาหารแช่แข็งมีความเค็มมากกว่าปกติถึงร้อยละ 30 ดังนั้นหากลดการกินเค็ม จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังได้อีกมาก อีกทั้งประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้ภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท


นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึง ในแต่ละปีได้จัดงบประมาณหลายล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร ซึ่งผลการทำงานในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 63 สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณการบำบัดทดแทนโรคไตวายเรื้อรัง จำนวนกว่า 9,405 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะมีผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 61,948 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน  31,047 ราย การฟอกเลือดจำนวน 28,546 ราย และการผ่าตัดเปลี่ยนไตจำนวน 172 ราย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 2,183 ราย โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี

Shares:
QR Code :
QR Code