เผยภัยเงียบ! อัลไซเมอร์ทั่วโลกพุ่งปีละ 4.6 ล้านคน
พบผู้ป่วยอายุน้อยลง ชี้กระทบต่อเศรษฐกิจโลก
เมื่อ 21 ก.ย. ซึ่งตรงกับวันอัลไซเมอร์โลก ที่มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2537 เว็บไซต์ “เอแอลแซตดอตโออาร์จี” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสมาคมอัลไซเมอร์ รายงานว่า ทุก 7 วินาทีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่ม 1 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงปีละ 4.6 ล้านคน โดยปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยอยู่แล้วเกือบ 30 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2593 หรืออีก 42 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าของจำนวนปัจจุบัน หรือมากถึง 100 ล้านคน
นายเจอร์รี แซมป์สัน ประธานฝ่ายพัฒนาของคณะกรรมการบริหารสมาคมอัลไซเมอร์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่น่าตกใจ และค่าใช้จ่ายทางการเงินและค่ารักษาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ระบบสาธารณสุขและสถาบันครอบครัว พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกคนศึกษาโรคใกล้ตัวชนิดนี้ให้ถ่องแท้และร่วมกันต่อสู้โรค
ด้านเว็บไซต์เมดิคัลนิวส์ทูเดย์ระบุว่า อัลไซเมอร์เป็นโรคทางสมองที่ทำให้ผู้ป่วยขี้หลงขี้ลืม มักพบในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง โดยอาการเบื้องต้น คือ สูญเสียความจำระยะสั้น เช่น ลืมว่าทานอะไรเป็นมื้อเช้า โดยโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้ทำความเดือดร้อนเฉพาะตัวผู้ป่วย แต่ยังสร้างปัญหาให้กับญาติที่ต้องดูแลทั้งด้านจิตใจและการเงิน นอกจากนี้ ยังเป็นโรคที่ยังไม่พบวิธีรักษา อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ มียาที่วางจำหน่ายในท้องตลาดที่สามารถช่วยบรรเทาอาการ เช่น ความจำเสื่อม การสื่อสารที่ติดขัด ช่วยเรื่องการตัดสินใจและการสูญเสียความกระตือรือร้น ได้ชั่วคราว
ที่สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยอัลไซเมอร์อยู่ถึง 5.2 ล้านคน ซึ่งทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมากถึง 10 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าคนรุ่นต่อไปจะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์กันมากขึ้นจนน่าตกใจ
ฝั่งมาเลเซียมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์กว่า 50,000 คน ดร.ยิม คาอี คี ประธานกองทุนโรคอัลไซเมอร์มาเลเซีย หรือเอดีเอฟเอ็ม กล่าวว่า ผู้ป่วยชาวมาเลเซียทุก 10 คนจะมี 9 คนอายุต่ำกว่า 65 ปี ซึ่งการวินิจฉัยพบโรคได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและครอบครัวมากเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการและช่วยผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 22-09-51