เผยภัยเงียบที่มาจากควันธูป
ผลวิจัยชี้เพียง 3 ดอกก่อสารมะเร็งเท่ามลพิษสี่แยก
กระทรวงวิทย์เสนอผลงานวิจัยเรื่อง “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ชี้ควันธูปเพียง 3 ดอกก่อสารมะเร็งเท่ามลพิษที่สี่แยกไฟแดง
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าไอ ซี ยู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า ตนและ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับอันตรายของควันธูป เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็ง โดยร้อยละ 80-90 มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่ขณะเดียวกันจากสถิติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดในเพศหญิงกลับพบว่าร้อยละ 50 ไม่พบประวัติสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ อีกทั้ง ไม่มีประวัติสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพเลย ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าได้รับควันพิษจากท่อไอเสีย แต่ภัยที่สำคัญที่สุดที่เพิ่งค้นพบคือ สารพิษจากควันธูป
นพ.มนูญ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า ควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน เนื่องจากส่วนประกอบของควันธูปมาจากกาว ขี้เลื่อย น้ำมันหอม และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ฯ โดยสารก่อมะเร็งเกิดจากการเผาไหม้ของกาวและน้ำหอมเป็นสำคัญ ดังนั้น ธูป 1 ดอกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325 กรัม และก๊าซมีเทน 7 กรัม ซึ่งมีศักยภาพเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า นอกจากนี้ ยังมีสารพิษอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ
นพ.มนูญ กล่าวว่า ทีมวิจัยยังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจหาสารก่อมะเร็งบริเวณวัด 3 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดดังและมีผู้คนไปกราบไหว้อย่างสม่ำเสมอ โดยได้สำรวจคนงานที่ปฏิบัติงานในวัดจำนวน 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปจำนวน 25 คน โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะ พบว่า คนงานที่ทำงานในวัดทั้งหมดมีสารเบนซีนสูงกว่าคนที่ไม่ทำงานในวัดถึง 4 เท่า ขณะที่สารบิวทาไดอีน สูงกว่า 260 เท่า และสารในกลุ่มพีเอเอช จำพวกฟาร์มาลดีไฮด์ พบสูงกว่า 12 เท่า นอกจากนี้ ยังพบสารเบโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อมะเร็งสูงสุด โดยพบว่าในวัดมีสารดังกล่าวสูงกว่าสถานที่ที่ไม่จุดธุปถึง 63 เท่า ที่สำคัญจากการตรวจร่างกายในคนงานในวัด 40 คนยังพบการแตกหักของรหัสพันธุกรรมสูงกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
“ควันธูปในวัดส่งผลอันตรายต่อประชาชน โดยเฉพาะพระสงฆ์ คนงานที่ทำงานในวัด แต่ที่น่ากังวลมากที่สุด คือ บริเวณศาลเจ้า โดยเฉพาะย่านเยาวราช ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจุดธูปตลอดทั้งวัน และอากาศไม่ค่อยถ่ายเท ประกอบกับยังมีควันพิษจากท่อไอเสีย ทำให้เป็นแหล่งรวมสารก่อมะเร็งที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด นอกจากนี้ การจุดธูปในบ้านก็เป็นปัญหามาก เพราะประเทศไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับการจุดธูปว่า เป็นเพื่อการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้มีการจุดธูปในบ้านมาก ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากธูป 3 ดอกสามารถปล่อยมลพิษและสารก่อมะเร็งได้เทียบเท่าสี่แยกไฟแรงที่มีการจราจรคับคั่ง” นพ.มนูญ กล่าว และว่า การวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารchemico –biological/ interactions ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงเป็นหนึ่งในทีมวิจัยด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของธูปที่ไร้ควัน หรือธูปอโรมา มีสารก่อมะเร็งหรือไม่ นพ.มนูญ กล่าวว่า ธูปทุกชนิดล้วนมีสารก่อมะเร็งทั้งสิ้น ธูปไร้ควันและธูปอโรมา เคยมีงานวิจัยออกมาพบว่า มีการปล่อยสารเบนซินมากกว่าธูปธรรมดาด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีการรณรงค์เรื่องนี้ให้ระมัดระวังกันถ้วนหน้า และต้องมีการรณรงค์ดับควันธูป โดยหลังจากจุดธูปแล้วควรมีการจุ่มธูปลงในน้ำหรือทรายก่อนปักลงในกระถางจะช่วยลดควันธูปได้ และในอนาคตภาคอุตสาหกรรมควรมีการผลิตธูปที่เมื่อจุดแล้วดับได้ทันทีภายในไม่กี่วินาที
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update: 29-07-51