เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า thaihealth


ห่วงการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์อังกฤษรุนแรง พบจู่โจมปอดอย่างรวดเร็ว ด้านหมอโรคปอด ห่วงผู้ที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ชี้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปถึง 14 เท่า ทำปอดเสียหาย ไร้ภูมิคุ้มกัน แนะเลิกสูบหรี่ทุกชนิด ช่วยลดความเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคได้


เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า thaihealth


นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 ที่ระบาดในไทย เป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ ที่ติดเชื้อง่ายและมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากเชื้อลงไปที่ปอด จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก ขอฝากถึงคนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังในหลอดลมและปอดอยู่แล้ว จากพิษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเอง


ทำให้ความสามารถในการขจัดสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอด ที่มากับลมหายใจลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ สสส.จึงขอเชิญชวนให้คนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เลิกสูบ เพื่อสุขภาพของตนเอง และป้องกันการติดเชื้อโควิด-19


เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า thaihealth


ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการรับเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น


โดยมีงานวิจัยระบุว่า ผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติ 5-14 เท่า และเมื่อป่วยแล้วมักมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบเลยอย่างชัดเจน ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ นักสูบที่สูบจนเกิดโรคเรื้อรังแล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด ระบบภูมิคุ้มกันจะมีลดต่ำกว่าคนปกติ ทำให้เชื้อโควิด-19 สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย และเกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้


เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า thaihealth


รศ.นพ.สุทัศน์ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ให้แก่คนรอบข้างได้มากกว่าบุหรี่มวน คือ 1.ปริมาณของฝอยละอองที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า (aerosol) และล่องลอยออกไปในอากาศมีมากกว่าบุหรี่มวน ซึ่งฝอยละอองนี้จะพาเอาเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมกันและแพร่กระจายไปด้วยกระแสลมได้เป็นอย่างดี 2.ผู้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนไม่น้อย มีพฤติกรรมสูบกันเป็นกลุ่ม พูดคุยกันหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำให้แพร่กระจายเชื้อโควิดให้แก่กันได้ง่ายมาก เช่น กรณีคลัสเตอร์การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้


3.ในสถานบันเทิงจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า บางคนอาจแชร์บุหรี่ไฟฟ้าระหว่างกันหรือสูบบุหรี่มวนเดียวกัน พฤติกรรมนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย “โควิด-19 ติดง่าย หายยาก มีโอกาสเสียชีวิตสูง


หากไม่อยากบั่นทอนสุขภาพของตนเอง ขอเตือนนักสูบทั้งหลายทั้งบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดโควิด-19 ขอให้เลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงและตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศ หันมาออกกำลังกาย กินอาหารดีมีประโยชน์ นอกจากได้สุขภาพที่ดีแล้วยังห่างไกลจากโควิด-19 อีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็กำลังทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะแพทย์ระบบการหายใจ หากประชาชนช่วยกันหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันเชื้อ จะช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก”  รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว


เผยพฤติกรรมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงติดโควิด 14 เท่า thaihealth


รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวเสริมว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความน่ากังวลมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่มวน เนื่องจากสารประกอบต่างๆ ในบุหรี่ไฟฟ้ามีความเป็นพิษสูงกว่า เช่น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากบุหรี่มวน สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายกว่ามากกว่า และเกิดผลกระทบต่อหลอดเลือดได้มากกว่าแบบเดิม บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินมากกว่าในบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า


นอกจากนี้สารระเหยในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน ที่ใช้เป็นตัวทำละลายในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักต่างๆ เช่น น้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรมโดยทั่วไป จะไม่ใช้สารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะในปอด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงแบบเฉียบพลัน (EVALI) ได้


ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 หากประชาชนต้องการคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 โทรฟรีทุกเครือข่าย ซึ่งในอนาคต จะมีพัฒนา Line bot เพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code