เผยผลสำรวจเด็กไทย 60% ดูทีวีไร้ผู้ใหญ่แนะนำ

ระบุ ละครไทยความรุนแรง ทั้งตบตี ข่มขืน ด่าทอสูง

 

 

เผยผลสำรวจเด็กไทย 60% ดูทีวีไร้ผู้ใหญ่แนะนำ            เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายเอก วงศ์อนันต์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับแนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การดูโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนอายุ 10-25 ปี” เมื่อวันที่ 2-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 565 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีพฤติกรรมดูทีวีเพียงลำพัง โดยเด็กอายุ 10-15 ปี ร้อยละ 58 ยอมรับว่าดูเพียงลำพัง เมื่อพบรายการที่ไม่เหมาะสมกับวัย มีเพียงร้อยละ 54.8 ที่มีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ

 

            นายเอกกล่าวว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.8 ระบุว่า ละครไทยมีความรุนแรง โดยฉากละครต่างๆ ที่มีความรุนแรง 8 อันดับแรก คือ 1.ตบตีกันนานๆ 2.ข่มขืน 3.ด่าทอ 4.ขว้างปาทำลายสิ่งของ 5.ล้อเลียนดูถูกบุคคล 6.แต่งกายล่อแหลม 7.ดื่มเหล้า 8.กระโดดถีบ ร้อยละ 70.4 ระบุว่า เคยเห็นเด็กและเยาวชนเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว ที่สำคัญ ร้อยละ 33.8 ยังยอมรับว่า ตัวเองเคยอยากเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้เช่นกัน เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหา พบว่า ร้อยละ 62.9 ต้องการให้มีการจัดเรตติ้งละครโดยให้ออกอากาศช่วงที่เด็กส่วนใหญ่เข้านอนแล้ว และร้อยละ 52.4 ต้องการให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดเรตติ้ง

 

            นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์  ผู้แทนเครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา กล่าวว่า รายงานของหน่วยงานอาชญากรรมและยาเสพติด สหประชาชาติ ปี 2550 ระบุว่า ไทยติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศ ที่มีสถิติการข่มขืนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจใน 189 ประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับสถิติการกระทำความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2548-2549 พบคดีที่เกี่ยวกับทำร้ายร่างกาย ข่มขืนสูงถึง 33,669 คดี ขณะที่ข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้เข้ารับคำปรึกษาปัญหาข่มขืนกระทำชำเราถึง 51 ราย ปี 2548 เพิ่มเป็น 140 ราย ปี 2550 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว

 

            วันเดียวกัน แนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย ได้จัดกิจกรรม “ดูดู๊ดูสื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้” ที่สภาคริสต์จักรแห่งประเทศไทย และออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ปัญหาสื่อโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยให้ควรทบทวนแนวทางจัดระดับความเหมาะสมของสื่อต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย และควรสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระเพื่อเป็นพื้นที่ของเด็ก เยาวชน ครอบครัว องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมในการพิจารณารายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมต่อสังคม

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 12-05-51 

Shares:
QR Code :
QR Code