เป็น ‘ครู’ ยุค 4.0 ทำอย่างไร
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
มาถึงยุค 4.0 ในยุคที่บทบาทในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง บทบาทครูก็เช่นเดียวกัน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรเพื่อไม่ให้ตัวเองตกเทรนด์ เป็นครูไทยในยุค 4.0 ครูจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือทำอย่างไร
มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอเชิดชูพระคุณครูเนื่องในวันครู จะชวนท่านไปหาคำตอบกับเพื่อนครูด้วยกัน บางความคิดเห็น บางแง่การเรียนรู้ อาจจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนครูไม่มาก็น้อย
ครูน้ำนิ่ง – ณัฏฐา ถมปัทม์
เริ่มด้วยครูรุ่นใหม่ ผู้มีปณิธานน่ายกย่อง อยากให้นักเรียนมีความสุขทุกๆ วันที่อยู่ในโรงเรียน แต่ท้อเกือบลาออก ครูน้ำนิ่ง – ณัฎฐา ถมปัทม์ อายุ 28 ปี สอนประจำชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านโชกเหนือ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ได้เข้าเรียนรู้ในโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SCB Connext ED) ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ดูแล และเลือกเข้าโมดูลพัฒนาศักยภาพครู ยกระดับคุณภาพวิชาการ : อ่านออกเขียนได้ โดยอาจารย์ไซหนับ เอสเอ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ที่มาช่วยเทรนเทคนิคจนเป็นจุดคลิกที่ทำให้เธอแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
“เมื่อก่อนเราเหมือนจะสอนแค่ให้จบในเวลาเท่านั้น แต่ได้เทคนิคมาว่าเราต้องมีเวลาฝึกนักเรียนให้เพียงพอ จึงมาเปลี่ยนเวลาในการฝึกอ่าน ฝึกเขียนนักเรียนให้มากขึ้น และการใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย ซึ่งได้เทรนเทคนิคการผลิตสื่อจาก powerpoint ด้วย ทำให้เราสามารถทำสื่อให้เด็กใช้ได้ และสร้างบรรยากาศในห้องเรียนใหม่ค่ะ เปลี่ยนท่าทีให้เริ่มผ่อนคลายลง ลดความดุ ไม่ทำให้เครียด ให้รู้สึกว่าเขาเข้าใกล้เราได้มากขึ้น ให้เด็กได้พูดคุย ไม่ตำหนิเขา ไม่ชี้ว่าอันนี้ผิด อันนั้นถูก เพื่อให้เขาได้กล้าตอบ และเปลี่ยนวิธีคิดค่ะ เริ่มมาคิดใหม่ว่าเด็กทุกคนเขาสามารถทำได้ เมื่อก่อนอาจจะคิดว่าจะให้ทำอันนี้อาจจะยากไป เด็กทำไม่ได้หรอก เราก็เลยปรับให้ง่ายๆ แต่พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราก็มองว่าต้องให้เด็กลองทำดู ปรากฏว่าเขาก็ทำได้ เหมือนเด็กเขามีอะไรซ่อนไว้ข้างหลังอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าครูจะไปดึงออกมาได้หรือเปล่า
พอทำประมาณปีหนึ่งก็เริ่มเห็นผลค่ะ นักเรียนเขาก็เรียนอย่างมีความสุข สังเกตได้ เขาไม่ขาดเรียน เขาอยากมาโรงเรียน ผลการเรียนเปรียบเทียบกับปีการศึกษาก่อน ผลการเรียนดีขึ้น การประเมินอ่านออกเขียนได้ ที่ทาง สพฐ. ประเมิน ผลคะแนนออกมาเด็กทั้ง 17 คน ไม่มีปรับปรุง แม้แต่เด็ก LD (เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้) ที่มีอยู่ 3 คนก็มีพัฒนาการดีขึ้น ตัวอย่าง น้องผักบุ้ง ตอนแรกก็พบว่าเขาอ่านช้า อ่านไม่ค่อยออก สะกดไม่ค่อยได้ ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะสอนให้เขาได้หรือเปล่าก็ลองดู กลายเป็นว่าตอนนี้อ่านออก เขียนได้ และการเรียนดีขึ้น เพราะว่าเราฝึกเขามากๆ ให้ฝึกพร้อมกันในห้องและฝึกอ่านหนังสือทุกวัน”
ในด้านพฤติกรรม มีการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กมาก เด็กเขาสื่อสารดีขึ้นพูดไปแล้วมีการโต้ตอบ กล้าตอบ กล้าคิด เด็กกล้าแสดงออก เวลามีกิจกรรมที่โรงเรียนก็อยากแสดง “รู้สึกดีใจ และภูมิใจมากค่ะ”
“แรงบันดาลใจที่อยากเปลี่ยนแปลงตนเองคือเด็กๆ ค่ะ ด้วยความที่เชื่อว่าอาชีพครู ที่เขาบอกว่าได้บุญ ได้สอนคน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เหมือนทำบาป ถ้าเราทำไม่เต็มที่กับเขา คือเด็กไม่ได้เรียน ไม่ได้ความรู้กลับไป เขามาแล้วก็เล่นแล้วก็กลับไป ก็เหมือนเราไปทำบาปกับเด็ก โดยที่เอาวันๆ หนึ่งของเขา แทนที่เขาจะได้เรียนรู้กลับหายไป” ครูน้ำนิ่งกล่าว
ครูตุ๋ม – ศิริลักษณ์ ชมภูคำ
มาถึงครูคนที่สอง ที่ใช้ชีวิต 25 ปี ในอาชีพครูเสาะแสวงหานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนขึ้นฝั่งได้รอดปลอดภัย ไม่เว้นแม้แต่เด็ก LD (เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้) ที่ ครูตุ๋ม – ศิริลักษณ์ ชมภูคำ จากโรงเรียนบ้านหินลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม สอนวิชาภาษาไทยชั้น ป.4-ป.6 และรับผิดชอบเด็ก LD ของโรงเรียนทั้ง 23 คน โดยใช้นวัตกรรม 6 ขั้นตอนที่คิดค้นขึ้นเอง และดึงนักเรียนจิตอาสามาเป็นแนวร่วมใช้เวลาพักกลางวันสอนเสริมให้แก่เด็กเหล่านี้ เมื่อเห็นผลดีในเด็ก LD ครูตุ๋มกลับมาคิดถึงเด็กปกติในห้องเรียน น่าจะใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข
“จากเดิมเราเป็นครูสอน เหมือนครูเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในห้อง เป็นผู้ที่สั่งการทุกอย่าง เด็กจะต้องอย่านอกกรอบ ที่นี้มันเป็นเรื่องผิดปกติที่มนุษย์เราจะขาดการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เหมือนกับเด็กเป็นหุ่น ครูจะทำอะไรก็ได้ พอครูมามีวิธีการสอนแบบใหม่ ทำให้ครูมีความสุข เด็กมีความสุข เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เด็กได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ปกติของมุนษย์ทั่วไปมี จุดนี้ครูมองว่าสำคัญมากกว่าเนื้อหาวิชาการ”
“ไม่ว่าครูยุคไหน ในความรู้สึกของครู ครูคือผู้ที่จะสั่งสอนอบรมให้ลูกศิษย์เป็นคนดี มีความรู้ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ต้องดูแลลูกศิษย์ให้เป็นคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม หมายถึงสอนเขาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่อเป็นครูยุค 4.0 ครูต้องเพิ่มทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์” ครูตุ๋มกล่าว
ครูโอ – อารี ทัศนาวิวัฒน์
มาถึง ครูโอ – อารี ทัศนาวิวัฒน์ สอนชั้นอนุบาล 4 – 5 ขวบ อยู่ที่โรงเรียนบ้านกอก จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนภาครัฐ จัดการศึกษาอนุบาลแบบบ้านตามแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) มาเป็นเวลา 10 ปี หลังจากไปศึกษาดูงานที่อนุบาลบ้านรัก และประทับใจการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อลองคิดย้อนในชีวิตวัยเด็กของตัวเอง ซึ่งการสอนสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองเติบโตมา เมื่อคิดย้อนก็ทำให้มีความสุข จึงกลับมาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นการศึกษาแนวนี้
“จุดที่คิดเปลี่ยน คิดว่า..เนี่ยเด็กเล็กเขาไม่ต้องการอะไรมากมาย ต้องการคนดูแลที่ดี เอาใจใส่เขา ดูแลเขาด้วยความรักและความอบอุ่นที่มอบให้ และไม่ใช่เพียงการเขียนหรือการพัฒนาแค่สมองเท่านั้นต้องพัฒนาภายในเขาด้วย
คิดว่าเหมาะกับบริบทของโรงเรียนบางกอกที่เด็กก็ไม่ค่อยอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง พ่อแม่ผู้ปกครองไปรับจ้างบ้าง อยู่กับปู่ย่าตายาย ก็เลยคิดว่าตรงนี้ เขาต้องการสิ่งนี้ความรักความอบอุ่นในบทบาทของแม่ ครูเป็นแม่นักเรียนก็เป็นลูก ก็เลยคิดว่าบรรยากาศเหล่านี้ก็น่าจะเหมาะสมกับเขา
สิ่งแรกที่จะต้องกลับมาพัฒนาก็คือ หนึ่ง พัฒนาด้านกายภาพก่อน นำวัสดุที่ไม่ใช่มาจากธรรมชาติออกจากห้องเรียน การจัดห้องเรียนที่เป็นแบบเดิมๆ เราก็นำออกให้เป็นลักษณะของรูปแบบบ้าน สอง พัฒนาด้านพัฒนาตนเอง คือไปอบรม ฝึกทักษะ และมีการนิเทศก์ โดยผู้เชี่ยวชาญเข้ามานิเทศก์และสังเกตุการสอน และมาให้ข้อเสนอแนะและเราก็ค่อยๆ ปรับปรุงมาตามนั้น แต่ที่สำคัญคือกระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องมีจังหวะที่สม่ำเสมอ มีการทำซ้ำซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะค่อยๆ พัฒนาทั้งตัวเด็กและตัวครู แต่เราก็จะมองเห็นข้อบกพร่องจุดที่จะต้องแก้ไข และเราถึงจะหาวิธีการที่จะต้องแก้ไขตรงนั้น”ครูโอกล่าว
ครูแดง – รุ่งนภา นาคะเต
มาถึง ครูแดง – รุ่งนภา นาคะเต จากโรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่เพิ่งรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตความเป็นครู
“เราสร้างบาปให้กับเด็กเยอะมาก” เพราะฉะนั้นชีวิตหลังเกษียณครูแดงปวารณาตัวเองเป็นจิตอาสาทำงานเปลี่ยนแปลงครูและนักเรียน หลังจากได้ไปร่วมกิจกรรม Open eye ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พอกลับมาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองขนาดใหญ่
1.ต้องเปลี่ยนการทำเสียงดังเป็นเสียงเบา เสียงทุ้ม เพื่อให้เด็กมีสมาธิ และครูเป็นคนเสียงดัง เป็นคนดุ อยู่บ้านฝึกยิ้มในกระจก ฝึกพูดเสียงเบา ให้สามีเป็นคนดูว่าถ้าพูดเสียงแบบนี้ได้หรือยัง เมื่อก่อนอยู่บ้านก็เอาแต่ใจตัวเอง ก็เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น
2.ต้องเปลี่ยนเรื่องอารมณ์ ต้องคิดว่านี่คือลูกของเรา นี่คือเด็กของเรา ห้องเรียนของเรา อย่างคะแนนโอเน็ตเราก็ไม่ได้เน้นมาก เพราะได้ตกลงกับผู้อำนวยการแล้วว่าสิ่งที่สำคัญกว่าถ้าเด็กเรามีความสุข และเริ่มคิดเป็น
3.ต้องปรับการสอนใหม่ เมื่อก่อนใช้หนังสือเป็นตัวตั้ง หันมาใช้เทคนิคสื่อ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ครูทำสื่อไม่ค่อยเป็น จะอาศัยครูรุ่นใหม่ที่เก่งเทคโนฯ ก็วานให้เขาสอนให้หน่อย ทั้งเรื่องการใช้ wifi ดู youtube จะทำอย่างไร ถ้าจะเก็บภาพจะทำอย่างไร น้องๆ ก็ช่วยกันสอน จะไม่อายเรื่องตรงนี้ที่เราไม่รู้ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากที่ทำไม่เป็นก็ให้สอนให้หมด จริงๆ น้องๆ ก็กลัวๆ กล้าๆ เพราะเราเป็นเป็นครูผู้ใหญ่แล้ว แต่ก็ทำบรรยากาศให้เหมือนกับเป็นเพื่อน ก็บอกน้องว่าเราก็เหมือนเพื่อนๆ นั่นแหละอายุเท่าๆ กัน ลองสอนให้หน่อยซิ
“มีความภูมิใจ ครูเปลี่ยนไปมากเลย ครูในโรงเรียนเปลี่ยนการสอนใหม่เลย เอาจริงเอาจัง แล้วเด็กมีสมาธิมากขึ้น เด็กเราเริ่มมีระเบียบโดยที่ไม่ต้องมานั่งด่ากันหน้าแถวทุกวันๆ ไม่ต้องพูดแล้ว มีความคิดที่อยากจะทำโน้นนี่ด้วย แต่ที่ภูมิใจอีกคือเด็กของครูที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตอนนี้เขาเขียนได้แล้ว เราไม่ต้องเป็นห่วงเขาว่าเขาจะเรียนต่อชั้นมัธยมไม่ได้อีกแล้ว
เขาเรียนได้สบายๆ แล้ว ที่เราห่วงเขามากที่สุดก็น้องมอส โสทร เขาเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่แตกแยก เขากินยานอนหลับ 20 เม็ดในโรงเรียน ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เราภูมิใจที่สุดที่เขาเปลี่ยนแปลง แม่เขาที่ไม่เคยสนใจเขา มาสนใจเขา ตอนนี้เขาไม่เกเรแล้ว มาโรงเรียนทุกวัน บางทีก็มาทำโน้นทำนี่ มาช่วย เป็นจิตอาสาแต่เช้า ดูแลน้องให้น้องปรนนิบัติสถานที่
เพื่อนๆ ก็ปฏิบัติกับเขาดีขึ้น จากที่เคยกลัวมอสมากก็เริ่มเล่นกันด้วยดี ไม่มีเรื่องแล้ว” ครูแดงเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
นายสมศักดิ์ ประสาร
สุดท้ายนอกจากครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนด้วย นายสมศักดิ์ ประสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะทาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ใช้กระบวนการจิตศึกษา เปลี่ยนครู เปลี่ยนห้องเรียนเพื่อเด็ก
“ผมว่าถ้าครูไม่เปลี่ยน เด็กไม่เปลี่ยนแน่นอน แล้วถ้าตัวเรา(ผอ.) ไม่เปลี่ยน ครูก็ไม่เปลี่ยนหรอกครับ” ในปี 2555 ได้อบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ประทับใจนวัตกรรม PBL (Problem–based Learning) / PLC (Professional Learning Community) / จิตศึกษา จึงนำกลับมาเปลี่ยนแปลงโรงเรียน
“ที่สำคัญคือ เรื่องการพัฒนาปัญญาภายใน หรือความฉลาดภายในของนักเรียนคือจิตอาสาที่เราได้นวัตกรรมมาจากลำปลายมาศฯ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ครูเข้าใจนักเรียนยิ่งขึ้น ครูเข้าใจครู ทำให้คนเราเข้าใจกัน เพราะว่านวัตกรรมจิตศึกษาเป็นเครื่องมือบ่มเพาะ ให้ครูมีความอ่อนโยน มีความรัก ความเมตตา ใช้จิตวิทยาเชิงบวก และมีสภาพแวดล้อมที่ดี
ครูที่มีวุฒิภาวะของความเป็นครู คือ ครูปูชนียบุคคล ครูจะเป็นตัวอย่าง ครูไม่ใช่ผู้พร่ำสอนจริยธรรม แต่ครูจะเป็นผู้ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง”
“เพราะฉะนั้นบทบาทของ ผอ.ผมคิดว่าคือการสร้างการรับรู้เพื่อให้เขาได้เรียนรู้แบบเปิดอกเปิดใจ สบายใจ คือเรียนรู้ไปกับเขาด้วย แล้วก็ได้ขวัญกำลังใจ และให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา อยู่เป็นกำลังใจ อยู่ใกล้ชิดและเติมเต็ม เสริมพลัง” ผอ.สมศักดิ์กล่าว