เป็น ‘กูรู’ ให้คนยุคใหม่ ปลุกพลังวัยเกษียณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
เป็นกูรูแนะความรู้คนยุคใหม่ หนทางปลุกพลังวัยเกษียณ
ทำเอาคนหลัก 5 หลัก 6 แอบน้อยใจเบาๆ เพราะลูกหลานอาจจะมองว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่เย้าเฝ้าบ้านเพื่อเลี้ยงลูกหลาน ซ้ำร้ายยังถูกกีดกันจากตำแหน่งหรืองานบางอย่าง เพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้น จริงอยู่ที่คนวัยนี้ก็ควรได้รับการพักผ่อนและการปรนนิบัติพัดวีจากลูกหลาน แต่ถ้าหากท่านยังแข็งแรงและทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ลูกหลานควรสนับสนุนเห็นจะถูก เพราะนั่นไม่เพียงช่วยป้องกันภาวะเหงา เศร้าซึม และห่อเหี่ยว แต่ยังเป็นการกระตุ้นการโชว์พลังที่มีอยู่ในตัว หรือประสบการณ์การใช้ชีวิตล้ำค่าไปสู่ลูกหลานและคนในสังคม ดังคำกล่าวที่ว่า "เป็นผู้แก่วิชาความรู้" อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้มีความสุข และทำประโยชน์เพื่อสังคมของคนวัยเกษียณไว้น่าสนใจ
อ.ณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. ให้ความรู้ว่า "อันที่จริงแล้วคนอายุ 50, 60 ไปจนถึงวัย 70 และ 80 ปี หากว่าร่างกาย จิตใจ และสมองยังปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่ายังทำงานได้อยู่ โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์ หรือเกี่ยวกับภูมิปัญญาที่ได้สะสมไว้ในวัยทำงาน และไม่ได้ใช้แรงหนักมาก การส่งเสริมให้ได้เข้าสังคมและพูดคุยทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ก็เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน โดยเฉพาะท่านไหนที่ยังต้องการอยากทำงาน และหากเป็นผู้สูงวัยที่ไม่ได้ทำงานประจำ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพการเกษตร หรือทำงานอิสระอื่นๆ เช่น เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ รถยนต์ คนวัยนี้จึงถือเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์ ภาษาชาวบ้านคือ ความรู้ความสามารถของท่านไม่มีวันหมดอายุ หรือแม้แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพแพทย์ วิศวกร สถาปนิก และนักกฎหมาย ที่ยิ่งอายุมากเท่าไร ประสบการณ์และความรู้ความสามารถ ตลอดจนการรู้จักพลิกแพลงในการแก้ปัญหาก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มอาชีพที่กล่าวมาสามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำ หรือเป็น "วิทยากร" รวมถึง "อาจารย์สอนพิเศษ" ให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ในวิชาที่ตัวเองถนัด ซึ่งก็ถือเป็นการใช้พลังที่มีอยู่ในตัวในการทำงานเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง เช่น การที่คุณลุงคุณป้าซึ่งประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ที่อยู่กับการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ก็ย่อมต้องคลุกคลีอยู่กับปัญหาตลอด และเห็นมันทุกวัน ดังนั้นการทำหน้าที่ "ปราชญ์ชาวบ้าน" เพื่อให้คำปรึกษาลูกหลานยุคใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นในอาชีพการเกษตร ก็ถือเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยสามารถทำได้ และเป็นงานที่ไม่หนักจนเกินไป ที่สำคัญเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่มีประโยชน์ให้คงอยู่ในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
หรือแม้แต่ผู้สูงวัยที่ประกอบอาชีพพยาบาล เมื่อเกษียณอายุการทำงานออกมาแล้ว ก็สามารถสมัครเป็น "จิตอาสาตาม รพ." เช่น การช่วยงานด้านเอกสาร ช่วยรับโทรศัพท์ ให้คำแนะนำคนผู้ป่วยใหม่ ที่อาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เป็นการคืนสิ่งดีๆ สู่สังคมอย่างหนึ่ง อีกทั้งทำให้ผู้ที่เคยทำงานในด้านดังกล่าวไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือเหงา เศร้าซึม เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ กระทั่งการที่ผู้สูงวัยลุกขึ้นมา "ดูแลตัวเอง" ด้วยการ "แต่งตัว" เพื่อไม่ให้ตัวเองจมอยู่กับปัญหาทางกายจากอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังเหี่ยวย่น หรือมีผมขาวเต็มศีรษะ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้คนสูงวัยดูแช่มชื่น สดใสตามวัยแล้ว แต่ก็ยังสามารถแนะนำเพื่อนไว้เดียวกันให้หันมาดูแลตัวเอง เช่น การเลือกเสื้อให้เหมาะกับรูปร่าง ก็จะช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกมั่นใจเวลาออกนอกบ้าน ก็เป็นการสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ทางหนึ่ง
สิ่งสำคัญการที่ผู้สูงวัยจะโชว์พลังและประสบการณ์ที่ดีๆ ในตัวเองไปสู่ผู้อื่น ก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีเช่นกัน โดยต้องดูแลกายและจิตใจให้ดีจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อีกทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีความสุข เช่น การจัดห้องนอน หรือห้องน้ำ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี ทำอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใส สุดท้ายต้องอยู่ในสังคมที่ดี ซึ่งหมายถึงการคบเพื่อนฝูงวัยเดียวกันที่มีความเป็นมิตรและจริงใจ
ไม่มีคำว่าแก่ถ้าใจอยากทำงาน…เห็นด้วยไหมคะ