เปิบน้ำพริก ชนเผ่า กับข้าวดอย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
พริก หอมแดง กระเทียม เกลือ เป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบ "น้ำพริก" เมนูยอดนิยมของทุกชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกใบชา น้ำพริกถั่วเน่า ลาบพริก (ของชนเผ่าบีซู) ลาจึตี (นำพริกของลีซู) ฯลฯ แตกต่างกันที่กรรมวิธีการปรุง และวัตถุดิบบางอย่าง ทำให้รสชาติของ "น้ำพริก"แตกต่างกัน พี่น้องชนเผ่ารับประทานน้ำพริกกับ ผักแนมที่หลากหลาย ทั้งผักสดและผักนึ่งตามฤดูกาลที่เก็บได้ในสวนครัวหลังบ้าน เน้นพืชผักปลอดสารพิษ
วันนี้เรามาเที่ยวชมและชิมน้ำพริกในงาน "มหกรรมอาหารชาติพันธุ์-อาหารฮาลาล" จัดที่สวนสาธารณะกลางเมือง (สวนตุง-โคมเฉลิมพระเกียรติ) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 18-21 มกราคม 2561 โดยเทศบาลนครเชียงราย สสส. สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ สสช. เครือข่ายชาติพันธุ์เชียงราย 17 ชาติพันธุ์ เครือข่ายชุมชนในเขตเทศบาลเชียงราย และร้านค้าอาหาร วัตถุประสงค์คือ ให้อาหารเป็นตัวเชื่อมความรัก-ความเข้าใจ ระหว่างคนเมืองและพี่น้องชนเผ่า วันนี้เราได้ชิมน้ำพริกและผักแกล้มของหลายชนเผ่า รู้สึกประทับใจยิ่งนักเริ่มจาก
น้ำพริกชา ของ ชาวไทยลื้อ มีส่วนประกอบของ พริกป่น มะเขือเทศเผา ถั่วเน่าย่าง หอมแดง-กระเทียมจี่ไฟแกะเปลือกออก โขลกรวมกับตะไคร้ ขิง แล้วใส่ยอดใบชาสดๆ โขลกรวมกัน เป็นชาป่า รับประทานกับข้าวเหนียวดอย แกล้มกับผักนึ่ง เช่น น้ำเต้า ผักกาด มะเขือเปราะ จานเด็ดของชาวไทยลื้อที่นำมาวันนี้ยังมี ข้าวซอยน้ำคั่ว (ก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยว) ข้าวจี่งา และ ข้าวหลาม อีกด้วย
น้ำพริกผักชี ฝีมือพี่น้อง ชาวม้ง ทำง่ายๆ มีเพียง ผักชี เกลือ และ พริกขี้หนู โขลกรวมกัน ทุกอย่างสดไม่มีการย่างเหมือนกับพี่น้องชาวไทยลื้อ แกล้มกับผักปลูกเองอย่าง บร็อคโคลี่ เห็ดนางฟ้า ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี แครอท ผักกาด ถั่วฝักยาว ชาวม้งมีน้ำพริกหลายแบบเช่น น้ำพริกข่า น้ำพริกผักชี ที่มีทั้งแบบใส่มะเขือเทศและไม่ใส่มะเขือเทศ
และยังมี ข้าวใหม่ม้ง ซึ่งเป็นข้าวน้ำนม ที่ชาวม้งไปเก็บเกี่ยวตอนที่ข้าวออกรวงสุกเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ไปคั่วในกระทะเหล็ก แล้วนำไปสีจะได้ข้าวสารเม็ดสีทองพร้อมจมูกข้าวสมบูรณ์ นำไปหุงแบบเช็ดน้ำ ก็จะได้น้ำข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินมาเป็นน้ำซุป รสชาติหวานมันหอมอร่อย
น้ำพริกเนื้อ ของ ชาวเมี่ยน มีส่วนผสมของเนื้อหมัก แล้วนำไปย่างไฟหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกรวมกับ พริก กระเทียม เกลือ ขิง รับประทานกับผักสดอีกเมนูอร่อยก็คือ หมูห่อใบชาป่า ชาวเมี่ยนนำหมูสับมาคลุกเคล้ากับเครื่องเทศสมุนไพรปรุงรสแล้วนำไปม้วนกับใบชาป่าทอดจนสุก ชาป่าใบใหญ่กว่าชาทั่วไปไม่มีรสขมฝาดวันนี้ยังมีเมนูเด็ดอย่าง ไข่ม้วน โดยนำหมูสับมาปรุงรสม้วนกับไข่ เน้นเทคนิคการทอดไข่ให้เป็นแผ่นโดยไม่ใช้น้ำมัน
มีส่วนประกอบของพริก กระเทียม ต้นหอม ผักชี และหอมแส้ม้า (เป็นต้นหอมของชาวดอย) และถั่วเน่า เริ่มจากโขลกพริกกับกระเทียมคั่ว ให้ละเอียด ใส่ถั่วเน่าแผ่นย่างไฟจนหอม เกลือ ตำพอแหลกใส่ลงไป ต้นหอมแส้ม้า ผักชี รับประทานกับผักอย่างถั่วแขก หน่อไม้ มะเขือ ผักกาดกวงตุ้ง เรดโอ๊ค ฟิลเล่ย์ไอซเบิร์ก กับข้าวเหนียวดำดอย อาข่ามีน้ำพริกหลายแบบ เช่น น้ำพริกถั่วลิสง น้ำพริกงา (คั่วขาวงา คั่วพริก คั่วกระเทียม โขลกรวมกันแล้วใส่ผักชี ต้นหอม) น้ำพริกมะเขือเทศในสำรับจะมีน้ำพริกทุกมื้อ นอกนั้นก็จะเป็นอาหารพื้นเมืองแบบทางเหนือ ทว่าสูตรต่างกันเล็กน้อยเช่น ลาบอาข่า จะไม่ใส่เครื่องใน นำหมูสับมาคลุกเครื่องลาบและเลือดแล้วนำไปใส่ใบตองย่างไฟให้สุก ไม่ได้นำไปคั่วกับน้ำมันเหมือนชาวพื้นเมืองเป็นต้น
น้ำพริกมะเขือเทศ (ลาจึตี) ของ ชาวลีซู ต้องนำ พริก กระเทียม มะเขือเทศ ถั่วเน่า ไปย่างไฟ แล้วนำมาโขลก กับเกลือตามด้วยผักชี หอมแส้ม้ารับประทานกับผักลวก ผักสดเช่น ผักกาดยอดถั่วลันเตา ผักกาดแก้ว หัวไช้เท้า เรียกได้ว่าแต่ละชนเผ่ามีน้ำพริกมากกว่า 1 อย่าง เช่นชนเผ่าลีซูมีน้ำพริกกว่า 10 ชนิด สำหรับจานเด็ดของลีซูยังมี ต้มฟักหม่นใส่กระดูกหมู ฟักหม่นก็คือ "ฟัก" ต้มกระดูกหมูใส่เกลือ ขิง แล้วใส่ฟักลงไป ชาวลีซูไม่นิยมอาหารรสเค็มจัด
สุพจน์ หลี่จา (ชาวลีซู) นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จัดงาน "มหกรรมอาหารชาติพันธุ์-อาหารฮาลาล" มาหลายปีแล้ว จุดเด่นก็คือนำเสนออาหารของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จากนั้นก็เป็นอาหารของพี่น้องชาวพื้นเมือง และกลุ่มธุรกิจอาหารปลอดภัยของจังหวัดเชียงราย กลุ่มชาวชาติพันธุ์มาร่วมงานนี้เป็นครั้งที่ 4 ปีนี้เน้นในเรื่องของ ข้าวดอยน้ำพริกชนเผ่า
ซึ่ง "ข้าวดอยปลอดสารพิษ" เป็นหัวใจหลักของพี่น้องชนเผ่า รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรม องค์ความรู้ และความเชื่อ ส่วน"น้ำพริก" เป็นเมนูจานสำคัญที่พี่น้องทุกเผ่ามีอยู่แล้ว เราสามารถวัดความมั่นคงทางอาหารได้จากความหลากหลายของเมนูน้ำพริก เพราะน้ำพริก 1 ถ้วย จะมีเครื่องเคียงมากมาย นี่คือความมั่นคงทางอาหาร สุพจน์กล่าวอย่างนั้น
และเขายังบอกอีกกว่า ทางโครงการมุ่งสร้างความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าของตัวเอง โดยใช้อาหารเป็นประเด็นเชื่อมโยง มีการศึกษาภูมิปัญญาของ 9 ชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงรายเพื่อค้นหาความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น อันเป็นแนวทางรักษาความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และ ป่า
"ถ้าพี่น้องเราอยู่อย่างภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเอง ทุกอย่างก็จะตามมา เพราะพวกเราอยู่กับการเกษตรแบบพอเพียง ใช้ชีวิตตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเรามีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ก็สามารถผลิตอาหารเองได้ มีความปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้บริโภค"
โครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารฯ จึงมุ่งส่งเสริมในเรื่องของการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 9 ชาติพันธุ์ เสริมสร้างทัศนคติในการผลิตเพื่อบริโภค โดยใช้หลักเผื่อแผ่และเมตตา หลังจากมีข้อครหาว่าชนเผ่าต่างๆ มักใช้สารเคมีปริมาณสูงในการปลูกพืชผัก รวมถึงการสร้างเครือข่ายพหุวัฒนธรรมชนเผ่า เพื่อให้คนกับป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน
นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ยังกล่าวอีกว่า "ที่สำคัญเรามุ่งสร้างความตระหนักที่ดีต่อสังคมเมือง เพราะพี่น้องชาติพันธุ์มักมีภาพลักษณ์ว่าเผาป่า ทำลายป่า ปลูกผักใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ แต่ความจริงแล้ว วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ก็เหมือนคนเมืองที่ถูกกระแสบริโภคนิยมครอบงำ มุ่งสร้างผลกำไรและผลิตเพื่อการขายเป็นหลัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่สามารถบอกปัดได้ว่าเป็นเรื่องของฉัน หรือเรื่องของเธอ เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข"
นายกสมาคมฯ เชื่อว่าการจัดงานแบบนี้ทำให้พี่น้องชาวชนเผ่าหันกลับมาให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตดั้งเดิม มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการกินแบบเก่า รู้สึกรักและหวงแหนในวัฒนธรรม และมีความภาคภูมิใจ รวมทั้งเชื่อมโยงไปถึงการจัดการป่า พืชบางอย่างหาได้จากป่า บางอย่างปลูกไว้ในสวนครัว มีมิติของการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่า สิ่งแวดล้อม ตามศาสตร์ของพระราชาที่ว่า "ได้ความรักความเมตตาต่อกัน"
สุพจน์ทิ้งท้ายว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ได้ทรงแฝงเรื่องของความรักเข้าไปในนั้นเช่น คนปลูกก็ปลอดภัย คนกินก็ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมก็ปลอดภัยด้วย นี่คือความรักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้ พวกเขาจึงพยายามเดินตามรอยพระราชา พ่อหลวงเคยเสด็จชุมชนลีซู บ้านปางสา ถึง 3 ครั้ง เมื่อปี 2522 ปี 2523 และปี 2424 ทำให้ชาวบ้านเริ่มต้นขุดดินทำนา สร้างฝายชลประทาน ท่านสอนให้ชุมชนปลูกพืชผักสวนครัว วันนี้พวกเขา นำพืชผักจากสวนของพ่อมาจำหน่ายในงานนี้ด้วย