เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ คาบสาม ‘การปรับพฤติกรรม’
ที่มา : เว็บไซต์ thepotential.org เรื่องโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thepotential.org โดย Mind Da Hed
เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คาบสาม: การปรับพฤติกรรม
คุณหมอเริ่มต้นคาบสุดท้ายด้วยการพาเราไปรู้จัก ‘คำศัพท์’ แทนเด็กในวัยต่างๆ
แรกเกิด – 1 ขวบ Self Centered: “เด็กเล็ก คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล”
2-5 ขวบ มีหลายคำหน่อย
Animism: “ทุกอย่างมีชีวิต เช่น ตุ๊กตามีชีวิตทุกตัว อย่าแยกเขาออกจากกัน”
Magic: ความคิดเชิงเวทมนตร์ “ทุกอย่างเป็นไปได้หมดด้วยเวทมนตร์”
Phenomenalistic Causalty: วัยแห่งการจับแพะชนแกะ
ครูใหญ่ของห้องเรียนพ่อแม่อธิบายว่า อะไรที่เกิดพร้อมกันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน พราะหนึ่งจึงเกิดสอง เพราะสองจึงเกิดสาม นี่คือฐานของเหตุและผลที่ดีในอนาคต แต่ก็เริ่มด้วยแพะชนแกะ ฉะนั้นเวลาลูกถาม พ่อแม่มีหน้าที่ตอบ อย่าบ่น
”6-12 ปี Concrete: มีการคิดเชิงรูปธรรม “เห็นอะไรก็เห็นอย่างนั้น เห็นหมาก็เป็นหมา ไม่มีอะไรซับซ้อน”
12-18 ปี Abstract: คิดเชิงนามธรรม “สมองสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่เห็นและสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่จับต้องไม่ได้”
ปูพื้นด้วยความเข้าใจพฤติกรรมของทุกช่วงวัย แต่แค่นั้นยังไม่พอ ในโลกทุกวันนี้ที่หมุนเร็วตื๋อ เด็กๆ ควรมีทักษะที่ดีในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า 21st Century Skill ที่มีด้วยกัน 3 ทักษะ
1. ทักษะการเรียนรู้
“มีความอยากรู้ อยากค้นหา อยากรู้อยากเห็น” ประกอบด้วยทักษะย่อย 4 ข้อคือ
คิด วิพากษ์ Criticize Thinking หมายความว่า ไม่เชื่อง่ายและมีความคิดที่เป็นอิสระจากทุกอย่าง มีเสรีภาพที่จะคิด
สื่อสาร Communication เกิดเป็นคน คิดแล้วก็ต้องสื่อสาร คือ พูด เขียน เล่นละคร โต้วาที จัดนิทรรศการ เดินรณรงค์
ร่วมมือกัน Collaboration ทันทีที่มนุษย์มีเสรีภาพ เขาจะพูดและคิด
“มันแหงอยู่แล้วที่ต้องเจอคนคิดไม่เหมือนเรา จึงมีการ compete เถียง compromise ประนีประนอม แม้จะคิดต่างแต่เรามีเป้าหมายร่วม รอมชอมกันที่จุดหนึ่งแล้วทำงานด้วยกัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ creativity และนวัตกรรม คือ innovation เป็นข้อที่ 4
ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม Creation & Innovation ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการทำงานที่ดี และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปลงมือทำจึงเป็นนวัตกรรม
“เพราะการเถียงกันในกลุ่มคนที่มากพอ มันจะสนุก ถ้ามันเถียงกันอย่างมีเสรีภาพและนวัตกรรมจะเกิดโดยไม่รู้ตัว คือ ในการประชุมที่ดี 1+1+1 จะไม่ได้เท่ากับ 5 เพราะความคิดมันพลุ่งพล่านมาก มันต้องการเสรีภาพ ที่ประชุมแบบนี้มีและมันก็ดีจริงๆ แต่น้อยและไม่มีในที่ประชุมราชการ”
2. ทักษะชีวิต
“ระบบการศึกษา แยกการศึกษาออกจากชีวิต” คุณหมอบอกว่าจริงๆ แล้วทักษะวิชาการกับชีวิตควรไปด้วยกัน
แล้วทักษะชีวิตมีอะไรบ้าง?
“มองไปข้างหน้าเป็น วางแผนเป็น ตัดสินใจทำเป็น ค้นหาทางเลือกเป็น ปรับแผนหรือยืดหยุ่นเป็น ประเมินผลเป็น และรับผิดชอบเป็น ถ้าเขาทำได้ทั้งหมดนี้ จะไม่ฆ่าตัวตายโดยง่าย” คุณหมอย้ำ
3. ทักษะไอที
“ผมยืนยันว่าเราควรให้เสรีภาพลูก เราควรบอกและชี้แนะว่าลูกสนใจอะไร อยากรู้อะไร อย่ามัวแต่นอน มีกูเกิลให้ค้นก็ค้น ค้นออกมาแล้วไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อ การอ่านข้อมูลใดๆ ในกูเกิลวันนี้เป็นเพียงการบริหารความคิด ไม่ได้ให้เชื่อ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ตัวทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิตดีขึ้น พอทักษะชีวิตดี ทำให้เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์
“ดังนั้นต่อให้ข้อสอบมันแย่ยังไง เด็กก็จะยอมรอมชอม เพราะกติกาของเปเปอร์นี้ ตกคือตกนะจ๊ะ เขารู้ทั้งรู้ว่าเปเปอร์นี้ก็ไม่ได้เข้าท่ามากนักหรอก ตัวเองมีความรู้เยอะกว่านั้นเยอะ แต่เขาพร้อมจะรอมชอม อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า EF และทักษะศตวรรษที่ 21 ดี”
ทักษะที่ว่านี้ คุณหมอหมายถึง
ทักษะการเสพข่าวสาร – แยกแยะและใช้ประโยชน์จากข่าวจริงข่าวลวงให้ได้
ทักษะการใช้สารสนเทศ – รู้ว่าอะไรคือข้อมูล อะไรคือข่าวสาร และอะไรคือความรู้ และใช้ให้เกิดประโยชน์
ทักษะการใช้เทคโนโลยี – สามารถใช้เครื่องมือหลากหลายได้เหมาะสม พร้อมๆ กับบริหารเวลาไปด้วย
ระหว่างทางการฝึกทักษะเหล่านี้ คุณหมอมีทิปส์เล็กน้อยแต่สำคัญมหาศาลมาฝากพ่อๆ แม่ๆ
“เราไม่ควรชมเขาเยอะเกินไป ไม่ควรชมว่าเก่งจังเลย นั่นคือการชมที่ผลลัพธ์ เพราะจะทำให้ลูกเริ่มเฉื่อย ไม่สนใจคำชม แต่ควรชมที่วิธีการ เช่น ความพยายาม ความอดทน”
ห้ามเด็ดขาดเลยคือ บั่นทอน
“แค่แม่ชักสีหน้าก็เท่ากับทำโทษลูกแล้ว พยายามนั่งดูเขาไปก่อน ให้สัดส่วนการชมมากกว่าการติหรือเฉยๆ ทำรางวัลให้เยอะกว่าการทำโทษ แม้ว่ามันจะน่าด่าทุกปัญหาก็ตาม (ยิ้ม)”
ข้อคิดท้ายชั่วโมง
ถึงจะเปิดห้องเรียนได้ไม่กี่เดือน แต่คิวรอเรียนที่ยาวไปอย่างน้อย 3 เดือน ก็ทำให้คุณหมอแปลกใจไม่น้อย
“แปลกดีนะ ผมก็งงว่าทำไมถึงมีดีมานด์ มันไม่น่าจะมีดีมานด์เยอะขนาดนั้น ถามว่าทำไม ทุกคนเป็นทุกข์ ทุกข์เรื่องชิงดีชิงเด่น คาดหวังสูงจากการศึกษาแบบนี้ มันเป็นวงจรร้ายเนอะ”
เท่าที่สังเกต พ่อแม่ที่มาเรียนคาดหวังสูง ‘ทุกคน’
“คาดหวังว่าเด็กควรจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้เมื่ออายุเท่านี้ จะรีบอะไร ไม่รู้ ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราคาดหวังสูงจริง
“ถ้าเรามีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กสักนิด และผ่อนคลายระบบการศึกษาซะหน่อยให้ทุกคนหายใจโล่งขึ้นอีกหน่อย อย่าตึงเครียดกันนัก อย่าแข่ง อย่าเปรียบเทียบกันมากนัก เด็กเขาไม่พร้อมก็แปลว่าไม่พร้อม ถ้าสังเกตผมก็จะพบคำตอบซ้ำๆ ไม่ต้องกดดัน ของมันสบายๆ รอได้ (ยิ้ม)”