เปิด ‘มหกรรมสร้างสุข’ เหนือถึงใต้

 น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรอยยิ้มไทยยั่งยืน..

 

 เปิด ‘มหกรรมสร้างสุข’ เหนือถึงใต้

          มีคนบอกว่า ความมั่นคงของประเทศ คือ จำนวนครั้งของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คน แน่นอนว่า หนึ่งครั้งของรอยยิ้มย่อมหมายถึง ดัชนีมวลรวมด้านความสุขกำลังพุ่งขึ้นเหนือสิ่งอื่นใด เรามาเริ่มต้นว่าดัชนีความสุขของประเทศกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คนกับมหกรรมสร้างสุข 4 ภาคปี 2550

 

          พลังสุขภาพเริ่มก่อตัวเมื่อภาคีสร้างสุขทั่วประเทศจับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดงาน ตีแผ่ทุกข์สุข โดยจะเริ่มขึ้นตลอดเดือนพฤจิกายน 2550 ไปจนถึงเดือนมกราคมปี 2551

 

          นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานจัดงานวิชาการสร้างสุข 4 ภาค กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาชีวิตไม่ให้เสียชีวิตก่อนวันอันควร ดังนั้นจึงเริ่มต้นด้วยข้อมูลทางวิชาการที่สำรวจ “ทุกขภาวะของ 4 ภาค” สำรวจทุกขภาวะเพื่อหาทางออกสู่ความสุข ซึ่งปีนี้ได้ยึดแนวทางสุขภาวะยั่งยืนด้วยวิถีชีวิตพอเพียงเพราะหากไม่มีความพอเพียง ความสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย” นพ.บรรลุ กล่าว

 

          นพ.บรรลุ บอกอีกว่า การจัดงานในครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือระดับนโยบายท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ที่เห็นปัญหาและแปรทิศทางการบริหารนโยบายด้านสุขภาพตรงจุดมากขึ้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะจัดทำสมุดปกเขียวเพื่อสังคมสุขภาวะ สรุปสถานการณ์ ปัญหาสุขภาพ ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป

 

          ใต้ชู 3 วัฒนธรรมพอเพียง

 

          งานสร้างสุข 4 ภาคจะเริ่มต้นสัญจรที่พื้นที่ภาคใต้ โดยใช้สถานที่สัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวของภาคใต้อย่าง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่จัดงาน ระหว่างวันที่ 2 – 4 พ.ย. 2550

 

          สุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็ต ในฐานะผู้ประสานงานสร้างสุขภาคใต้ กล่าวว่า ด้านสุขภาพคนใต้ เราพบว่าโรคมาลาเรียที่เคยระบาดเมื่อ 10 ปีก่อนกลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงมีปัญหาแพทย์ขาดแคลน รวมไปถึง 3 ปี ของ คลื่นยักษ์สึนามิ คนบ้านน้ำเค็มไม่เคยนอนหลับได้เต็มตื่น

 

          นั่นเป็นเพียงน้ำจิ้ม แต่ที่เรียกว่า ไฮไลต์ของงาน คือ การสัญจรลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับ 3 ชุมชนท้องถิ่น ที่ยึดแนวทางพอเพียง ต้านกระแสการท่องเที่ยว โดยที่ไม่ถูกกลืนทางวัฒนธรรม

 

          จุดสำคัญที่เราอยากนำเสนอ คือ การลงพื้นที่สัญจร สัมผัสกับวิถีวัฒนธรรมไทย 3 ชุมชน คือ วิถีวัฒนธรรมไทย มุสลิม ชุมชนกมลา ที่นำเอาวิถีทางศาสนามาฟื้นฟูจิตใจหลังประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิรวมกลุ่มปรับตัวกับกระแสท่องเที่ยวแบบพอเพียงไม่หลงทาง ไม่ถูกกลืน ยังคงรักษาวัฒนธรรมที่ดีงาม

 

          “3 ชุมชนที่ภูเก็ตน่าสนใจมากด้านวิถีชีวิต เพราะใช้ชีวิตเรียบง่าย ภายใต้กระแสท่องเที่ยว เช่น ชุมชนไทย จีนที่กระทู้ ที่เป็นต้นกำเนิดการกินผักของคนภูเก็ต ส่วนอีกชุมชนคือ ไทยพุทธบ้านแขนม ที่ยังคงรักษาสูตรวัฒนธรรมทางอาหารท้องถิ่นที่แตกต่างและมีเพียงแห่งเดียวในโลกเอาไว้ได้”

 

          บทสรุปของการจัดงานสร้างสุขจะนำไปสู่นโยบายโดยการประกาศเอ็มโอยูร่วมกันกับเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพ      

  

          เหนือ ความสุขแบบพอดี

 

          การจัดงานสร้างสุขในพื้นที่ภาคเหนือจะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน ที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดแพร่ โดยยึดแนวคิดสุขแบบพอดี ด้วยวิถีพอเพียง

 

          สุวิทย์ สมบัติ เลขานุการคณะกรรมการอำนวยการงานสร้างสุข บอกว่า ปี 2550 ถือเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา การจัดงานสร้างสุขจึงน้อมนำกระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นประเด็นหลักในการจัดงานสร้างสุขภาคเหนือ

 

          จุดเด่นในการนำเสนอของพื้นที่ภาคเหนือมีมากมายตั้งแต่การนำเสนองานทางด้านวิชาการ ที่เสนอสถานการณ์สุขภาวะ ทั้งในเรื่องของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่พื้นที่ภาคเหนือ เริ่มพบกับสัญญาณเตือนมหันตภัยโลกร้อน

 

          “เราพบสัญญาณแปลกๆ ในพื้นที่ภาคเหนือหลายพื้นที่ ซึ่งไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมนานกว่า 20 – 30 ปี เริ่มเกิดปัญหานี้แล้ว เช่น เชียงใหม่ ลงมาภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน มีปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะมาจากโลกร้อน”

 

          แต่ประเด็นที่ถือเป็นระเบิดเวลาของชาวเหนือ คือ ความชรา สุวิทย์บอกว่า การนำเสนองานวิชาการมีหลายประเด็น แต่ที่เด่นที่สุด คือ การสำรวจพบว่า หลายจังหวัดในภาคเหนือกำลังกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนชรา ประชากรผู้สูงอายุของภาคเหนือมี 13.7% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศ คือ 10.8% จากตัวเลขนี้ทำนายได้ว่าอีก 15 – 20 ปี  จะมีผู้สูงอายุมากกว่าวัยเด็กและวัยทำงาน เรื่องนี้เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุรวดเร็ว

 

          “นั่นเป็นเพียงงานวิชาการแต่ภาคเหนือมีการจัดลานสมัชชาสุขภาพ เป็นการนำเสนอรูปธรรมการปฏิบัติตามปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยนำเสนอกรณีศึกษาระดับบุคคล ชุมชน หน่วยงานที่หลากหลายประมาณ 30 กรณีศึกษา” สุวิทย์บอก

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 10-03-52

Shares:
QR Code :
QR Code