เปิดใจ เท่ากับ ให้โอกาส

ที่มา : เว็บไซต์ thaipr.net


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thaipr.net และแฟ้มภาพ


เปิดใจ เท่ากับ ให้โอกาส   thaihealth


เยาวชนจากชุมชนบ้านห้วยผาก อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เริ่มต้นใหม่ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเป็นคนดีของสังคม


ชีวิตวัยรุ่นที่เคยก้าวพลาดเพราะรักเพื่อน ใช้ชีวิตสุดโต่ง เรื่องตีรันฟันแทง สารพัดอบายมุข เจอหน้าวัยรุ่นต่างบ้านที่เขม่นกันก็มักมีเรื่องให้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันเป็นประจำ จนถึงขั้นถูกนำตัวเข้าไปปรับพฤติกรรมและบำบัดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมาแล้ว แต่วันนี้ชีวิตของ ชล-ชาลชล คะอี้ และทองแดง วงศ์ทอง เยาวชนจากชุมชนบ้านห้วยผาก อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กำลังเริ่มต้นใหม่ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเป็นคนดีของสังคม เพราะพวกเขาได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ที่ไม่ตัดสินเขาเพียงคำว่า "ก้าวพลาด" ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง


"เมื่อก่อนผมไม่ฟังใคร ดื้อ รั้นมาก เพื่อนชวนไปตีรันฟันแทงอะไรไปหมด จุดพลิกผันของชีวิตคือ การต้องไปอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เจอครูฝึกโหดมาก เลยคิดได้ พอออกมาจากศูนย์ฝึกฯ ชาญชลชวนเข้าร่วมกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านห้วยผากเลยตอบตกลง" ทองแดง เท้าความถึงประวัติของตัวเองก่อนเมื่อครั้งที่เดินทางผิด เพราะคำว่า "รักเพื่อน" ถึงแม้จะเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงภาพอดีตที่ทั้งทองแดงและชลต่างรู้ว่า "จะไม่กลับไปเดินบนเส้นทางสายนั้นอีกแล้ว"


ชลและทองแดง มีโอกาสได้เข้ามาทำงานเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่น้ำตกเก้าโจน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คณะกรรมการหมู่บ้านมอบหมายให้เยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานหารายได้ โดยมีป้าทิพย์-พรทิพย์ สำเภา และลุงเจี๊ยบ-สุขสันต์ สำเภา ที่ให้โอกาสเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านห้วยฝาก จึงทำให้เขาได้ซึมซับวิธีคิด วิธีทำ และวิธีดำเนินชีวิต จนกระทั่งพาเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านการทำโครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยผาก โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ชาวบ้านในหมู่บ้านกลับมาดูแลอ่างเก็บน้ำห้วยผากเพื่อมีน้ำไว้ใช้อุปโภคต่อไป เพราะเห็นสถานการณ์ของน้ำในอ่างเก็บน้ำเริ่มวิกฤติลงทุกขณะ หากไม่มีใครลุกขึ้นมาจัดการเกรงว่าสักวันชาวบ้านจะไม่มีน้ำใช้


เปิดใจ เท่ากับ ให้โอกาส   thaihealth


กระบวนการทำงานที่เริ่มต้นจากการที่พี่เลี้ยงโครงการชวนคิด ชวนคุยถึงเป้าหมายการทำโครงการ ไปจนถึงการฝึกให้รู้จักคิดวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาของชุมชน จากนั้นจึงลงมือทำ ทำแล้วก็มีการสรุปบทเรียน และฝึกการนำเสนอ กระบวนการเรียนรู้ที่ทำซ้ำๆ เช่นนี้ ทำให้ทั้งคู่เริ่มมีสติ สมาธิจากการรับฟังความคิดเพื่อนแล้ว การได้ลงมือทำงานกับคนหมู่มากยังทำให้พวกเขารู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเอง และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนในสังคมอีกด้วย และที่สำคัญคือ ทำให้พวกเขารู้สึกมีพื้นที่ มีตัวตน ทองแดงและชลจึงตั้งใจปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด และพาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง บ่อยครั้งที่เวลาไปทำงานที่น้ำตกเก้าโจนแล้วพบวัยรุ่นต่างหมู่บ้านที่เป็นอริเก่า ทองแดงและชลเลือกที่จะเดินหลบไปอีกทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุที่จะทำให้เกิดการปะทะ


นอกจากนี้การทำโครงการฯ ยังเปิดโลกกว้างสู่การเรียนรู้ ที่ทั้งคู่ต่างบอกว่า ทำให้เขาได้รู้จักเพื่อนๆ จากต่างโครงการ มีเพื่อนเยอะขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้ประสบการณ์จากโครงการอื่นๆ เมื่อเห็นว่าสิ่งไหนดีก็จะนำมาปรับใช้ เช่น เรื่องการพูดจาที่เพื่อนๆ ต่างพูดจาดี สุภาพ ตรงต่อเวลา ก็เป็นตัวอย่างที่ทั้งคู่นำมาใช้ปรับปรุงตนเอง หรือแม้แต่การทำงานเพื่อสังคมแม้บางครั้งต้องขาดงาน ขาดรายได้ แต่ทั้งคู่ก็ยอมเพราะสิ่งที่เหล่านี้ทำให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง


"ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าเที่ยวเล่นไปวันๆ ดีกว่าเดินเตะฝุ่น เมื่อก่อนเขาเรียกพวกผมว่านักเตะฝุ่น แต่ตอนนี้เขาเรียกพวกผมว่า นักสิ่งแวดล้อม รู้สึกภูมิใจมาก" ทองแดงกล่าว


เปิดใจ เท่ากับ ให้โอกาส   thaihealth


การเปลี่ยนแปลงตนเอง และการที่สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น นอกจากเพราะวัยที่เติบโตขึ้นแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการเปิดโอกาสให้ได้กลับตัวกลับใจ อีกทั้งยังมีป้าทิพย์กับลุงเจี๊ยบที่กลายเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตและให้ความรักความอบอุ่น จึงยากที่ทั้งคู่จะเผลอใจพลั้งทำผิดอีก และรู้จักยั้งคิด เพราะรู้ว่า หากทำไปแล้วคนที่จะเดือดร้อนคือ ป้าทิพย์และลุงเจี๊ยบ เพราะรู้คิดถึงผลดีผลเสียจากพฤติกรรมที่ผ่านมา จึงกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในระบบการศึกษานอกห้องเรียน คือ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในชีวิตของทองแดง ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนตนเองสู่เส้นทางอนาคตที่ดี ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้ชลเลือกที่จะเรียนต่อ กศน. เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยอมรับว่า เส้นทางการปรับตัวต้องอาศัยระยะเวลาที่จะพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านคนอื่นๆ เพราะชื่อเสียที่ติดตัว ทำให้ชาวบ้านยังมองว่า เขาเป็นเด็กเกเร บางครั้งแม้จะตั้งใจไปช่วยงานในชุมชน ก็มักถูกกีดกันออกไป เพราะชาวบ้านกลัวว่าจะไปมีเรื่องทะเลาะต่อยตีกับวัยรุ่นคนอื่นๆ


พี่ทิพย์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เหตุผลที่เธอชักชวนให้เยาวชนในหมู่บ้านทำโครงการฯ เพราะอยากให้เด็กรู้จักรับผิดชอบงานของตนเอง จึงคิดใช้โครงการนี้เป็นโอกาสและแรงผลักในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่


"เด็กแบบสองคนนี้มีเยอะในหมู่บ้าน คนในชุมชนก็รำคาญเด็กดื้อ เด็กเกเร เขาจึงไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก คิดว่าเราควรจะให้โอกาสเด็ก เพราะถ้าเราไม่ให้แล้วใครจะให้โอกาสเขา" สำหรับการหนุนเสริมการทำงานของทีมงาน พี่ทิพย์ใช้วิธีกระตุ้นให้คิด ให้คุย ให้วางแผนก่อนการทำงาน สนับสนุนให้ลองฝึกฝนในบทบาทหน้าที่ต่างๆ เมื่อทำงานเสร็จก็จะชวนถอดบทเรียนการทำงานที่เกิดจากการปฏิบัติจริง การเป็นที่ปรึกษาอย่างเข้าใจความเป็นเด็ก ทำให้ได้รับความเคารพ รัก และไว้วางใจจากเด็กและผู้ปกครอง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ทองแดง ที่ตอนเข้าร่วมกิจกรรมช่วงแรกมีอาการต่อต้านมาก แต่เมื่อรู้ว่า สิ่งที่ได้ทำคือการได้รับโอกาส เขาจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง


"การทำงานกับเด็กก้าวพลาด มีจุดที่ต้องระวัง คือ เวลาที่เขาทำผิดพลาดผู้ใหญ่มักไม่ยอมรับ คือผิดแล้วผิดเลย จึงกลายเป็นตราบาปติดตัว แต่พอเราเปิดโอกาสให้ เขาจะไม่กล้าทำผิดอีก เนื่องจากกลัวลุงเจี๊ยบกับป้าทิพย์โดนด่ากลายเป็นว่าเขาต้องระมัดระวังตนเอง เพราะห่วงความรู้สึกของเรา"


เพราะวัยรุ่นคือวัยว้าวุ่น หากผู้ใหญ่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ พร้อมหนุนเสริมการเรียนรู้ให้พวกเขารู้จักยั้งคิด ยั้งทำ รู้คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของตนเอง เปลี่ยน "พลังลบ" ให้เป็น "พลังบวก" ได้แล้ว เชื่อว่าในอนาคตข่าววัยรุ่นตีกันคงเลือนหายไปสังคมไทย

Shares:
QR Code :
QR Code