เปิดใจ "หรั่ง-สุภาพร" จากสาวทำแท้งสู่จิตอาสาปรึกษาท้องไม่พร้อม
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพประกอบจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
"ความทุกข์ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ" เปิดใจ "หรั่ง-สุภาพร" จากสาวทำแท้งสู่จิตอาสาปรึกษาท้องไม่พร้อม
กว่า 20 ปี ที่เธอถูกสังคมตราหน้าว่าคนเป็นบาป จากเหตุความไม่รับผิดชอบของสามีผลักให้เธอต้องทำแท้ง นี่คือสิ่งที่สมเหตุสมผลแล้วหรือ? ในบ้านเมืองไทย
เมื่อทุกชีวิตต่างมีเรื่องราวดีๆ เท่าๆ กับที่มีโมงยามของปัญหา? อะไรที่จะเป็นตัวตัดสินลิขิตชีวิตของใครสักคนหนึ่งเท่ากับตัวของเขาเอง
“ท้องไม่พร้อม” คือปัญหาที่เราหยิบยกขึ้นในคำถามนั้น แม้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่หากมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้นจะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้
กระนั้นสังคมก็ยังตั้งคำถามและจำนวนไม่น้อยเลือกที่ปฏิเสธในการเข้าถึงสิทธิ และที่ยิ่งกว่านั้นคือการปกปิดแอบทำแท้งไม่ให้ใครรู้
แต่นั้นไม่ใช่กับ “หรั่ง-สุภาพร”หญิงสาววัย 45 ปี จากจังหวัดตราด อดีตผู้ยุติครรภ์ทำแท้งเมื่อไม่พร้อม ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมในด้านสิทธิของผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ให้คำปรึกษาของผู้ที่ตั้งท้องไม่พร้อม บทเรียนของชีวิตตลอดระยะเวลา 20 ปี กับสิ่งที่ประสบพบเจอ เรื่องราวของเธอน่าจะช่วยให้คลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย
‘รัก’ ไม่ได้แปลว่าพร้อม “มันเกิดขึ้นตอนอายุ 22” เธอเอ่ยถึงจุดเริ่มต้นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง
เธอบอกว่า ด้วยสาเหตุของความยากจนทำให้แม่ที่ถูกพ่อทิ้งต้องการที่จะให้เธอแต่งงานกับลูกชายของเจ้าของร้านขายของ ซึ่งมีฐานะดีมีอนาคตกว่าการทำสวนและรับจ้างที่ทำอยู่ แต่ชีวิตของเธอเป็นดั่งที่แม่หวังเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น เนื่องจากสามีของเธอมีนิสัยชอบกดขี่ข่มเหงจากการถูกเลี้ยงดูแบบตามใจอย่างลูกคุณหนู ซึ่งไม่ต่างไปจากละครนิยายที่มีพฤติกรรมชอบทำอะไรตามใจและไร้ความรับผิดชอบ
“ตอนตั้งท้องเขาไม่มาดูแลเราเลย ไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ท้องอยู่ก็ต้องไปอยู่บ้านแม่ ไปปลูกแตงกวาเพื่อเตรียมเงินสำหรับที่จะคลอดลูก ส่วนตัวเขานั้นทั้งกินเหล้าทั้งเที่ยวผู้หญิง พอเงินหมดก็แวะมาเอาเงินกับเราที่บ้านแม่ พูดง่ายๆ คือเงินเราเป็นเงินเขา แต่เงินเขาเป็นเงินเขา”
ด้วยเหตุนี้ทำให้บ่อยครั้งมักมีปากเสียงทะเลาะกัน นานเข้าก็ขึ้นถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย และมิหนำซ้ำแม่สามีแทนที่จะช่วยเธอกลับเข้าข้างลูกชาย ทุกครั้งที่ทะเลาะจะช่วยล็อคตัวเธอเพื่อให้ลูกชายทำร้าย ซึ่งนั้นทำให้ความคิดที่จะยุติครรภ์ครั้งแรกแวบเข้ามาในความคิด
“ไปซื้อยาขับเลือดมากิน แต่ไม่ออก” เธอว่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบแต่หนักแน่นอันแสดงถึงความทุกข์ที่ไม่ใช่จบเพียงแค่นั้น เธอเล่าถึงปัญหาต่อมาที่ต้องเจออีกว่าในตอนกลางวันเธอต้องดูแลสวนแตงกวาคนเดียวและในตอนกลางคืนต้องรับจ้างกรีดยางเพิ่มเพื่อให้ได้เงินทำคลอด ซึ่งเธอทำอยู่นานจนถึงอายุครรภ์ 8 เดือน
“พอคลอดลูกเขาก็มารับไปอยู่กับเขาที่บ้าน อยู่บ้านเขา 2 เดือน ไม่มีเงินเพราะลูกคลอดก่อนจะเก็บแตงกวาขาย ก็ไม่มีนมให้ลูกกินเขาก็ไม่สนใจ บอกแม่สามีเขาก็บอกว่าไม่มีเพราะเรากินจุไปกินเงินเขาหมดเลยไม่มีให้ค่านมหลาน ทั้งๆ ที่อาหารเราในหนึ่งวันของที่บ้านเขามีให้แค่หมูปิ้ง 3 ไม้ ต้องแบ่งกินเช้า กลางวัน เย็น”
“ในสถานะความเป็นแม่ เห็นลูกร้องหิวนม คิดอะไรไม่ออกก็ตัดสินใจเป็นขโมย ไปเป็นมิจฉาชีพกับกลุ่มคนละแวกบ้านที่เขาไม่มีจะกินเหมือนกัน ตอนไปทำก็ฝากลูกไว้กับแฟนเพื่อนแล้วไปร่วมขบวนการกับเขา”
ได้เงินมาหลักพันบาทพอเป็นทุนในการรอพักฟื้นเพื่อกลับไปทำงานให้มีเงินเลี้ยงลูก และเพื่อไม่ให้กลับไปซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิมเธอจึงเลือกที่จะคุมกำเนิดทุกวิถีทางที่ทำได้ในตอนนั้น ทว่าจนแล้วจนรอด 2 เดือนถัดมาเธอก็ตั้งท้องอีกครั้ง
“เราเป็นเหมือนภาชนะรองรับอารมณ์ เพราะเขามีอารมณ์ทางเพศบ่อยมาก ป้องกันยังไงมันก็พลาด มันไม่มีอะไรคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และทุกครั้งก็จะชอบทุบตี คือรับผิดชอบแต่ที่จะทำให้เกิด แต่ไม่รับผิดชอบในตัวเราเอง เราอยากหนีแต่ก็หนีไม่ได้ ตอนนั้นไม่รู้กฎหมายบอกจะแจ้งตำรวจจับเพราะเมียเป็นสิทธิของผัว ก็ต้องจำใจอยู่”
ตายทั้งเป็นเมื่อต้อง…ทนตลอดระยะเวลาในขณะนั้นสภาพจิตใจเธอย่ำแย่หนัก ทั้งเครียด วิตกกังวลและกดดัน ผสมกันอยู่อย่างนั้นจนตกผลึกถึงขั้นคิดอยากฆ่าสามี และยิ่งเมื่อคิดถึงบทเรียนจากการเลี้ยงลูกคนแรกแล้วยิ่งผลักให้เธอตัดสินใจที่จะทำแท้งลูกในทันทีที่เก็บเงินได้ครบจำนวน
“เราเกือบจะทุบลูกตัวเอง” เธอพูดเสียงดังก่อนจะเล่าต่อ พอลูกร้องกระจองอแงสามีก็จะตะโกนปลุกให้ตื่นลุกขึ้นมาอุ้มกล่อมทั้งคืน แล้วตอนเช้าต้องไปทำสวนแตงกวาและไปรับจ้างปลูกยาง อารมณ์มันก็หลุดโดยไม่รู้ตัวมือกำลังง้างทุบไปที่ลูกแต่ก็ได้สติขึ้นมาก่อน
“ลึกๆ ในทุกครั้งที่เราเห็นหน้าเขา มันจะมีวูบหนึ่งที่รู้สึกว่าเขาทำอะไรก็ไม่ถูกใจเรา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด” เธอเล่าถึงความคิดในขณะนั้น และนั้นทำให้เธอรู้ตัวว่าเธอเป็นผู้ที่ไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ เหตุจากหากเธอเลือกที่จะไม่ทำแท้ง หนึ่งต้องทำผิดกฎหมายอีกครั้งหนึ่งเพราะอีกหนึ่งชีวิตมีต้นทุนในการเกิดและโตแต่เธอไม่มีเงิน และสองเธอจะต้องเผลอโมโหสามีพลั้งลงมือทำร้ายลูกตัวเองในสักวันหนึ่ง
“มันเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจ นั่งรถไปคนเดียวจากจังหวัดตราดมากรุงเทพฯ บอกใครก็ไม่ได้ บอกแม่ก็ยิ่งจะทำให้เครียดหนัก ดีไม่ดีล้มป่วยลง เพราะอาจโทษตัวเองที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้”
ทั้งนี้ขณะเดียวกันในทางการแพทย์ก็มีข้อมูลทางวิชาการบอกถึงผลเสียต่อเด็กในครรภ์ หากคุณแม่ท้องไม่พร้อมภาวะทางจิตใจถูกกระทบไม่เพียงจะเกิดผลกระทบต่อลูกในระยะยาวที่เติบโต แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือส่งผลตั้งแต่ ณ ตอนนั้นที่ท้องอยู่พัฒนาการความสมบูรณ์ของเด็กอาจได้รบผลกระทบ เช่น1.ผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ถดถอย 2.ผลด้านพัฒนาการสมอง 3.การคลอดก่อนกำหนดได้
“เราจึงคิดว่าเราตัดสินใจถูก หากเราเผลอทำร้ายลูกมันจะเลวร้ายขนาดไหน และยิ่งถ้าเขาเกิดมาแล้วติดเชื้อ HIV ที่เรามารู้ทีหลังการเอาน้องออก ทุกอย่างจะเป็นอย่างไร สำหรับเราให้มันจบที่เราคนเดียวดีกว่า”
‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ คล้ายโชคส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เรื่องของการทำแท้งสำหรับผู้ไม่พร้อมนอกจากเรื่องของการที่แพทย์ปฏิเสธการรักษา ก็คือเรื่องของสังคมที่มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดบาปมหันต์ มิหนำซ้ำผู้ที่เคยผ่านเรื่องนี้ยังถูกตราหน้าจากสังคม ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าที่จะออกมาพูดถึงอย่างหาข้อยุติความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
“เรื่องนี้พูดแล้วมันก็เหมือนเรื่องถูกหวย ชีวิตมันยิ่งกว่านิยาย บางครั้งเราไม่รูว่ามันจะถูก ปัญหาก็เหมือนกัน บางครั้งเราไม่รู้ด้วยว่ามันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เมื่อมันเกิดมาแล้วเราก็ต้องแก้ไข ให้ชีวิตยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไร”
“ไม่อย่างนั้นคนเป็นก็จะตาย 3 ชีวิต น้ำแรงคนเดียวกับหนี้อีก 2 แสน 5 หมื่น ที่สามีเอาโฉนดไปค้ำกู้ ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของคน การตั้งครรภ์แบบนี้ถึงถูกเรียกว่าเป็นการตั้งท้องที่ไม่พร้อม”
เธอบอกอีกว่า ในอดีตหลายคนอาจจะมองว่ามันผิดเพราะวิชาความรู้เรายังไม่พัฒนามาถึงจุดนี้และที่สำคัญโอกาสในความเท่าเทียมของชายกับหญิงยังไม่ได้เปิดให้กว้าง แต่ปัจจุบันตรงกันข้าม ฉะนั้นจึงเรื่องผิดและก็ไม่ใช่เรื่องบาป และก็ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงสิ้นคิด แต่เป็นเรื่องของการตัดสินใจในชีวิตของตัวเองเพื่อคนข้างหลัง
“มันมีมานานแล้วเรื่องเพศสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เราทำเป็นไม่สนใจไปสนใจแต่เรื่องอื่นๆ เราก็ยังโดนด่าต่อหน้าอีคนบาป คนในชุมชนมองว่าเป็นเรื่องบาป แต่สำหรับเรา เราตัดสินใจเองได้ เพราะเรารู้ปัญหาในบ้านของเรา เราคิดว่าดีกว่าเกิดมาแล้วเกิดปัญหา อย่างนี้น่าอายเสียกว่า เราเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาไม่ได้ ทำให้เขาเลือกเดินในทางที่ผิด”
สิ่งไหนมันบาปมากกว่ากัน ? เธอย้อนถาม ถึงในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมและในสภาพความเป็นจริงของหนึ่งชีวิตแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวตื่นเช้าทำกับข้าวให้เสร็จก่อน 9 โมง ก่อนที่จะออกไปทำงานสวนแตงกวา มังคุดและพริก จากนั้นกลับมาทำกับข้าวเย็น นอนพัก 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะตื่นเที่ยงคืนไปรับจ้างกรีดยางจนถึงรุ่งเช้า
“5 ปี หนี้ถึงหมด ถึงมีเวลาให้ลูกเขา ลูกคนเดียวยังแทบไม่มีเวลา ถ้าเราเลือกมีอีกคน เขาจะอยู่กันได้อย่างไร ทุกวันนี้ก็ภูมิใจที่เขาเติบโตมาเป็นคนดีในปัจจุบัน เราก็คิดว่ามันก็ถูกต้องสำหรับเรา อาจจะไม่ได้ถูกสำหรับคนอื่น อาจจะไปผิดกับคนอื่น แต่ถูกต้องสำหรับเรา เพราะเราคือคนที่รับปัญหาทุกอย่างไม่ว่าจะเอาน้องไว้หรือเอาน้องออก ปัญหาอยู่ที่เราหมด มันจึงไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่มันเป็นการตัดสินใจของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูแลในฐานะแม่และยืดอกทำให้เข้มแข็งปกป้องลูกในฐานะพ่อ”
บทเรียนให้ก้าวต่อไป “ที่ถูกต้อง”ท่ามกลางการรณรงค์การยุติครรภ์ที่ปลอดภัย ในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มุ่งหวังให้สังคมเปลี่ยนมุมคิดหญิงท้องไม่พร้อมคือผู้ป่วย และขอแพทย์รวมไปถึงโรงพยาบาลเปิดทางเลือกเข้าถึงการยุติครรภ์ที่ปลอดภัย
เธอให้ความเห็นด้วยในแนวคิดเรื่องนี้สำหรับปัจจุบันนับเป็นการก้าวที่ดีขึ้นสำหรับในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องของความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับคำปรึกษาจากศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาการท้องที่ไม่พร้อมได้ตรงจุด
“สมัยก่อนมันไม่ได้มีทุกแห่งให้คำปรึกษา และก็วิธีการทำไม่มีความปลอดภัย ถ้าเขาเป็นเด็กนักเรียนจะทำอย่างไร คนที่ถูกข่มขืนจะอยู่อย่างไร พ่อแม่ไม่รับอายที่ลูกท้องไม่มีพอ แล้วเขาจะหาทางออกทางไหน คิดไม่ตกฆ่าตัวตายกันบ้าง ทำกันเองจนตายบ้าง คลอดแล้วทิ้งบ้าง”
จากข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปี 2551 และ 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งถึง ปีละกว่า 3 หมื่นราย และคาดว่าจะมีอัตราตายสูงถึง 300 คน ต่อแสนประชากร
“ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็นที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องอุ้มท้องโดยขาดความรับผิดชอบของผู้ชาย และเราก็ต้องเสี่ยงกับชีวิตที่เราอาจจะต้องตายไป ทำให้พ่อแม่คนข้างหลังเสียใจ”
“เราควรที่จะอุ้มท้องเพื่อคนที่รักเรา มีสามีที่ดีพร้อมที่จะเลี้ยงลูก พร้อมที่จะเป็นพ่อที่ดีให้เรา ถ้าไม่พร้อมก็ต้องยุติได้หากเราต้องการ พร้อมแล้วค่อยมีใหม่ มีเมื่อพร้อม”
และเพื่อไม่ให้เป็นไปอย่างเช่นประสบการณ์ชีวิตของตัวเธอเอง เวลาที่นอกจากหน้าที่ของครอบครัว เธอยังได้สละเวลาที่มีอยู่ในชีวิตเธอ ออกมาช่วยเหลือเป็นจิตอาสาในกลุ่มคนผู้ท้องไม่พร้อมและก่อตั้งกลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้ได้รับเชื้อ HIV
“เพราะเรารู้ปัญหา เราเคยผ่านมา เรารู้ว่ามันส่งผลต่อชีวิตอย่างไร งานอื่นทิ้งก่อนหมดเลยถ้ามีคนขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมันคับขันแล้วเขาถึงมาให้เราช่วย คือท้องไม่พร้อมชีวิตมันเปราะบางมาก ผู้ป่วยที่มันไม่ใช่แค่ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดาของร่างกาย แต่มันคือการเรื่องของจิตใจด้วย เรื่องของชีวิตที่เขาต้องเผชิญอีก ไหนจะเรื่องสังคมที่ต้องเจอทุกวัน มันส่งผลทุกด้านในขณะที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ต้องเจอด้วยตัวคนเดียว”
“ก็อยากให้สังคมได้รับรู้ว่าผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่คนบาป ไม่ควรที่จะมีใครตีตราหรือซ้ำเติมผู้หญิง ไม่ควรที่จะมาด่าเขา ปัญหามันเข้าไม่เลือกใครมันจึงควรจะมีกฎหมายมารองรับเขาให้มีสถานที่ปลอดภัย และเคารพในการตัดสินใจของเขา มันไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่ว่าความทุกข์มันไม่ได้มีสังคมหรือกฎหมายมารองรับ”