เปิดใจ ‘น.ร.ปลายข้าว’ บอกเล่าชีวิต ‘เด็กนอกระบบ’

 

 เปิดใจ ‘น.ร.ปลายข้าว’ บอกเล่าชีวิต ‘เด็กนอกระบบ’
 
ปัญหาการศึกษาของไทยนับวันก็จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยลมปาก หลังจากที่มีเด็กหล่นหายจากระบบการศึกษากว่า 1.7 ล้านคน จากเด็กร่วม 14 ล้านคน อีกทั้ง ยังไม่มีเจ้าภาพอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ สำนักส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ และเทศบาลเมือง จ.พัทลุง จึงได้ลงสำรวจต้นแบบโรงเรียนนอกระบบ ณ โรงเรียนปลายข้าว ที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสัจธรรมความจริงด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพราะหนทางออกคือ ต้องร่วมกันช่วยแก้ไขและทำอย่างต่อเนื่อง 
 
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.
 
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า สสค.กำลังพยายามทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของเด็กนอกระบบที่เคยถูกมองข้าม โดยโจทย์แรกเห็นว่า เจ้าภาพน่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะมีหลักคิดอยู่แล้วว่า อปท.มีหน้าที่ต้องดูแลบริการพื้นฐานให้แก่ทุกคนในพื้นที่ของเขา ซึ่งรวมถึงเด็กที่อยู่นอกระบบด้วย แต่รูปแบบในการดูแลเด็กเหล่านั้น อาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยน่าจะยืดหยุ่นได้ตามศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมืองพัทลุงที่ตามเก็บเด็กที่อยู่นอกระบบ รวมทั้งเด็กที่หลุดจากระบบโรงเรียน ให้กลับมามีโอกาสได้เรียนอีกครั้ง โดยใช้ห้องเรียนธรรมชาติ อาทิ ลานวัด ซึ่งไม่มีรูปแบบที่เคร่งครัด ยืดหยุ่นตามความต้องการของเด็ก ทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน เรียกว่า “โรงเรียนปลายข้าว” ซึ่งผลการดำเนินงานหลายปีผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร สสค.อยากให้อปท.หันมาทำงานเพื่อเด็กนอกระบบมากขึ้น และพร้อมให้การสนับสนุนทุนดำเนินโครงการที่น่าจะมีความยั่งยืน โดยระยะแรกจะเริ่มที่เทศบาลก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปยัง อปท.ประเภทอื่นๆ ต่อไป 
 
นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง
 
นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาของโรงเรียนปลายข้าว ได้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบปฏิบัติจริง เน้นหลักคุณธรรมและความเมตตา เพราะเชื่อว่า การสร้างเด็กดี แม้อาจเรียนไม่เก่ง แต่พวกเขาจะไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และมองว่า สสค.น่าจะเป็นโรงพยาบาลการศึกษา ที่มีหน่วยงานที่คอยวิจัยโรคการเรียนรู้ เพื่อจะได้ให้ยาแก้ที่ตรงจุด ซึ่งต้องอาศัยการสร้างและประสานให้สังคมเกิดตระหนักในเรื่องการศึกษา ขณะเดียวกันก็จุดประเด็นความต้องการทางการศึกษาที่ตกหล่น พร้อมๆกับการเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่ยังไม่พร้อม และย้ำว่า การพัฒนาระบบทั้งในส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง ต้องเคลื่อนไหวไปด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาทั่วประเทศ 
 
นางสุภาณี ยังสังข์ หรือ “ครูเข็ม”
 
ด้าน นางสุภาณี ยังสังข์ หรือ “ครูเข็ม” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเทศบาลวัดนางลาด (โรงเรียนปลายข้าว) ที่อุทิศตนเพื่อเด็กนอกระบบได้เล่าถึงต้นแบบครูเพื่อศิษย์ หรือครู 7 – eleven : 24 ชั่วโมง ว่า เป็นการเริ่มจากการทำด้วยจิตใจ ใจรักถึงสามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินพิเศษ ไม่มีการประเมินความดีความชอบ ซึ่งมีแต่ความรับผิดชอบล้วนๆ และมีเพิ่มขึ้นสำหรับครูอาสา ในโรงเรียนปลายข้าว เพื่อเปลี่ยนสภาพครูเชิงพาณิชย์ในสังคมไทยให้เป็นครูเพื่อศิษย์ ที่พร้อมจะเสียสละเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยตารางเรียนที่กำหนดขึ้นเอง ตามความสะดวกและความสนใจของเด็กแต่ละกลุ่มแต่ละคน ทำให้การมีอยู่ของโรงเรียนปลายข้าวแสดงถึงความเสียสละของโรงเรียนและครูอย่างแท้จริง ปัจจุบันเริ่มนำเด็กนอกระบบและในระบบมาเรียนร่วมกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นสังคมที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้สังคมก็ยอมรับ 
 
น้องถัน หรือ นายเอกพล เชียตุด
 
น้องถัน หรือ นายเอกพล เชียตุด นักเรียนชั้น ม. 3 อายุ 16 ปี จากเด็กติดศูนย์ถึง 8 ตัว เที่ยวเก่ง กลายมาเป็นกำลังหลักหารายได้เข้าสู่ครอบครัว เล่าถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนปลายข้าว และโรงเรียนทั่วไปว่า ที่ปลายข้าวให้การเรียนรู้จากชีวิตจริงและประสบการณ์ตรง และสามารถกำหนดตารางเรียนและวิชาที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ ทำให้มีโอกาสช่วยพ่อแม่หารายได้ แล้วยังมีโอกาสได้เรียนอีกด้วย ที่สำคัญการเรียนการสอนของโรงเรียนปลายข้าวไม่ได้เลือกสนใจแต่เด็กเก่ง สะท้อนให้เห็นว่า จะมีอีกกี่สังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กนอกระบบได้เรียน และพร้อมที่จะเข้าใจภาระที่เราต้องช่วยพ่อแม่รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้สังคมจากที่เคยมองพวกเราเป็นเด็กเกเรไม่เรียนหนังสือ ตีความว่าเราเป็นเด็กไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อโรงเรียนปลายข้าวมอบโอกาสให้ได้เรียน สังคมก็ยอมรับเรามากขึ้น เดิมที่เคยเที่ยวเตร่ก็ช่วยพ่อแม่หารายได้ และไม่สร้างปัญหาเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆในสังคม 
 
น้องปราบ หรือ ด.ช.เจษฎา บัวจันทร์ นักเรียนชั้น ม. 3 อายุ 15 ปี เด็กที่เคยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สู่รางวัลที่ 1 ในการเล่านิทานธรรมะพระไตรปิฎก 3 ปีซ้อน เล่าว่าเมื่อก่อนครูเคยไล่ออกไปอยู่นอกห้อง ไม่ให้เรียนพร้อมเพื่อนเพราะเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ เลยออกมาวิ่งเล่นในลานวัด จนกระทั่งครูเข็มเห็นก็เรียกให้มาหาและถามว่าทำไมไม่เข้าเรียนพร้อมเพื่อน จนได้รู้ว่าในโรงเรียนไม่มีใครรับให้เป็นนักเรียนเพราะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ครูเข็มเลยต้องพานั่งรถไปตามถนนเพื่ออ่านหนังสือตามป้าย แล้วพามาอ่านพระไตรปิฎก แต่ก่อนที่จะเรียนอะไรครูเข็มจะถามก่อนว่าเราชอบหรือไม่ 
 
เปิดใจ ‘น.ร.ปลายข้าว’ บอกเล่าชีวิต ‘เด็กนอกระบบ’
 
“ตอนนี้ดีใจมาก เพราะกว่าจะได้เรียนมันยาก และก็หนักใจที่เวลาเห็นเพื่อนๆเขียนได้หลายอย่างและก็อ่านออกทุกคำ จนเวลาทำงานส่งครูต้องจ้างให้เพื่อนมาเขียนให้ แต่ปัจจุบันสามารถสอนป้าอายุ 40 ปีได้ และได้รับรางวัลที่ 1 ในการเล่านิทานธรรมะ ที่บ้านเองก็ดีใจ และอยากเรียนต่อที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ พัทลุง เพราะอยากเป็นช่างจัดดอกไม้ ซึ่งการจัดดอกไม้ทำให้มีสมาธิ จิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ที่สำคัญทำให้มีรายได้ในการไปจัดดอกไม้ตามงานศพ งานแต่ง ทำให้ได้เงินครั้งละ 6,000 บาท” น้องปราบเล่า 
 
น้องเติ้ล หรือ ด.ช.คำสิงห์ เชียตุด นักเรียนชั้น ม. 3 อายุ 15 ปี จากเด็กที่ก้าวร้าว เก็บตัว ทำร้ายผู้คนแถมยังติดเกม สู่การใช้ชีวิตในสังคมปกติ เล่าว่าช่วงที่ครูเข็มไปตามให้มาเรียนจะโวยวาย ด่าทุกคนที่ขวางการมาเล่นเกม ด่าแม้กระทั่งครูเข็มที่ไปยืนรอ เพราะไม่อยากไปเรียน กลัวการไปสอบเพราะอ่านไม่ออก กลัวสอบไม่ได้ จึงไปนั่งเล่มเกม แต่การที่กลับมาเรียนเพราะสงสารครูเข็มที่ไปยืนรอทุกวันเพื่อตามให้มาเรียน และที่สำคัญอยากอ่านออก เขียนได้เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ เพราะอยากเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนตนกับปราบเคยไล่ตีถันด้วยจอบ เพราะเป็นเด็กที่ก้าวร้าว สังคมไม่ยอมรับ จึงทำให้ไม่อยากพบหน้าใคร จึงชอบเก็บตัวและไปนั่งเล่นเกมที่ที่ร้านเกมนานถึง 4 ชั่วโมง บางวันเล่นจนดึก แต่ปัจจุบันกล้าที่จะสู้หน้าคน และก็อ่านออก เขียนได้ 
 
 
 
ที่มา: สำนักส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 
Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ