เปิดใจทบทวน “แม่วัยใส” แก้ไขเด็กไทยท้องไม่พร้อม
เป็นประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อย สำหรับสถิติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจำนวนแม่วัยใสในประเทศไทย โดยหนังสือ แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า
…ประเทศไทยมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 355 ราย
โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนถึง 10 รายต่อวันที่กลายเป็นคุณแม่วัยใส…
นอกจากนี้ สถิติสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุข ยังรายงานไว้ด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2555 หญิงไทยมีจำนวนการคลอดทั้งหมด 801,737 ราย โดยจำนวน 129,451 รายเป็นการคลอดที่เกิดจากวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวน 2.4 ล้านคน คิดเป็นอัตราการคลอดจากหญิงอายุ 15-19 ปี เป็น 53.8 ราย ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน
นั่นหมายความว่า อัตราการเกิดในภาพรวมของประเทศไทยที่น้อยลงแล้วนั้น 1 ใน 5 คือการให้กำเนิดของกลุ่มแม่วัยใส ที่ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพบุคลากรของประเทศไทย ทั้งทางด้านสุขภาพ ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ
ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จึงยกให้เรื่องการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่น เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมไทยควรจะต้องเร่งแก้ไข นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม ยังร่วมกันทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมผลักดันให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นวาระแห่งชาติ
ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมผลักดันให้มีการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด โดยมีภาคีสำคัญอย่าง มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ช่วยดำเนินงานในด้าน “โครงการพัฒนาสมรรถนะสถานศึกษาในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้าน” ซึ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในระดับจังหวัด 34 จังหวัดด้วย
สำหรับ “การประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ณ อิมแพค เมืองทองธานี ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สสส. ให้ข้อมูลถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า น่าจะช่วยประมวลความรู้ให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เห็นตัวอย่าง และนำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทางเพศของตนเองได้
“การจะรณรงค์แก้ไขและป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น เป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างบูรณาการ ดังนี้ (1) ประสานแผนงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) ปลูกฝังทักษะการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว (3) จัดให้มีการสอนวิชาเพศศึกษาในโรงเรียน (4) หากลุ่มเสี่ยงทั้งที่เรียนอยู่ และทำงานโรงงานเพื่อป้องกัน (5) สื่อสารให้วัยรุ่นรู้ว่า หากประสบปัญหาสามารถปรึกษาใครได้ (6) จัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตร (7) จัดบริการด้านสวัสดิการสังคม (8) จัดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ มีพื้นที่ทำกิจกรรม”
โดย ทพ.ศิริเกียรติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น นับเป็นประเด็นท้าทายต่อการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พ่อกับแม่หรือผู้ปกครอง จะได้พัฒนาทักษะการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน ส่วนครูและผู้บริหารก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ทำไมถึงต้องมีเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน
ไม่ใช่แค่ “เตรียมเด็ก” ต้องเตรียมผู้ใหญ่ด้วย
ธรรมชาติของเด็กในวัย 13 ปีเป็นต้นไป เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่พร้อมจะเป็นพ่อแม่คนได้ แต่ความพร้อมในวัยเท่านี้นั้น ก็มิได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน อุษาสินี ริ้วทอง เจ้าหน้าที่โครงการเพศวิถีศึกษารอบด้าน มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากจะป้องกันเรื่องเพศกับเด็ก สิ่งที่จะช่วยสอนพวกเขาได้ก็คือ ต้องเตรียมตัวให้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่นอย่างรู้เท่าทัน ทั้งในแง่ของธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
“เราต้องช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตนเอง และผู้ใหญ่ควรเปิดใจมองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิต คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ตระหนักและรู้ว่า โอกาสในการมีเพศสัมพันธ์มันเกิดขึ้นได้ จึงควรจะต้องรู้จักการป้องกันที่เหมาะสม รวมถึงรู้จักเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง
นอกจากนี้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ ทั้งในแง่ระหว่างบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน รวมถึงมีพื้นที่สาธารณะที่มีการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ มีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับเด็ก ไม่ใช่พูดแต่เรื่องเดิมๆ ในเมื่อสภาพแวดล้อม และบริบททางสังคมเปลี่ยนไปแล้ว” อุษาสินี กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต