เปิดใจคุยเรื่องเพศ หยุด ‘ท้อง-แท้ง-ทิ้ง’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"แม่วัยใส-ท้องไม่พร้อม" ถือเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของสังคมไทย ดังข้อมูลจาก "กรมอนามัย" กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน "เฉลี่ยวันละ 286 คน" คิดเป็นอัตราสูงถึง ร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด
หรือเท่ากับวัยรุ่นหญิงไทยทุกๆ 1,000 คน จะมีวัยรุ่นหญิงที่คลอดลูก 43 คน ยังไม่นับเรื่อง "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" อาทิ เอดส์ (HIV-AIDS) ซิฟิลิส ตลอดจนภาวะติดเชื้อจากการ "ทำแท้ง" ที่ไม่ถูกสุขอนามัย และการ "ทิ้งทารก" เพราะไม่พร้อมเลี้ยงดู ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก "ทัศนคติ" ที่ว่า "เรื่องเพศ=เรื่องน่าอาย"
ที่ผ่านมา มีความพยายามปรับเปลี่ยน การสอน "เพศศึกษา" ให้มีเนื้อหาตรงไปตรงมา "ไม่กระมิดกระเมี้ยน" โดยหวังว่าเด็กและเยาวชนจะมี "ทักษะชีวิต" รู้จักป้องกัน ดีกว่าการ "ห้าม"ที่พบว่าไม่ได้ผลในบริบทความเป็นจริง
ทว่า…บ่อยครั้งมักถูกบางฝ่าย "ต่อต้าน" ด้วยเหตุผลเกรงจะเป็นการ "ยุยงส่งเสริม" ให้วัยรุ่นวัยเรียนมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น เข้าทำนองสำนวนโบราณ "ชี้โพรงให้กระรอก" แล้ว "ทางออก-ทางแก้" ของเรื่องนี้ ควรทำอย่างไร.? ที่เวทีเสวนาเรื่อง "เพศในสื่อสมัยใหม่" ในการประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 2 "SEX เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่ ความฉลาดรู้เรื่องเพศ" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ มี "ข้อเสนอแนะ" ที่น่าสนใจ
"นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์" จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนาดังกล่าวว่า จากข้อมูลการใช้สื่อใน 24 ชั่วโมง ของกลุ่มวัยต่างๆ ในปัจจุบัน พบว่า "กลุ่มเด็ก" ใช้เวลาอยู่กับสื่อ ทั้งโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และเกม ราว 6-7 ชั่วโมง เรียนและนอน 16 ชั่วโมง และอยู่กับพ่อ-แม่ แค่ 1 ชั่วโมง ส่วน "กลุ่มวัยรุ่น" ใช้เวลาอยู่กับสื่อ 7-8 ชั่วโมง อยู่กับพ่อ-แม่ราว 1.5 ชั่วโมง และ "กลุ่มผู้ปกครอง" ใช้เวลาอยู่กับสื่อ 6 ชั่วโมง และมีเวลาอยู่กับลูกแค่ 2 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่า "พ่อ แม่ ลูก" มีเวลาที่สร้างสรรค์ร่วมกัน น้อยมาก การจะให้พ่อ-แม่ช่วยดูการใช้สื่อของลูกก็ยิ่งยาก โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นมักใช้สื่อใน "ห้องส่วนตัว"
"การเข้าถึงเรื่องเพศในอินเตอร์เนตทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วจิ้ม แต่ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่เชิงความรู้ และยังอยู่ในรูปของ คลิกเบท (Click Bait) ที่หลอกล่อให้กดเข้าไปดู ซึ่งมีทั้งโป๊ เปลือย สื่อลามกอนาจาร เกม และเรื่องที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ทำให้เด็กรู้ข้อมูลเรื่องเพศที่ไม่ใช่เชิงความรู้จริงๆ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งร้อยละ 50 ของ เด็กนั้นเคยเจอรูปโป๊ เปลือยในอินเตอร์เนต และเข้าถึงได้ง่ายในการค้นหาแต่ละครั้ง และคำว่า เซ็กซ์ (Sex) ยังเป็นคำค้นที่นิยมตลอดกาลของคนทั่วโลก" นพ.คมสันต์ กล่าว
"อินเตอร์เนต" ที่ถือเป็น "สื่อใหม่" นั้น เป็นพื้นที่ที่ "การควบคุมแทบไร้ผล" แม้หลายครั้ง จะมีการ "บล็อก" หรือปิดกั้นจากภาครัฐ แต่บรรดานักท่องโลกออนไลน์มักหาทาง "ลอดทะลวง" เข้าไปดูเนื้อหานั้นได้ไม่ยากเย็น
ดังที่ "ดร.สิขเรศ ศิรากานต์" ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสื่อดิจิทัลและสื่อสมัยใหม่ ให้ความเห็นว่า สื่อดั้งเดิม อาทิ โทรทัศน์ ยังมีเรตกำหนดอายุ คนดูแต่ละรายการ ทว่าสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่มีการควบคุม และเชื่อว่า "ไม่มีทางควบคุมได้" ดังนั้นควรแก้ไขด้วยการให้การเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง เหมาะสมแต่ละวัย และให้เด็กรู้จัก "รู้เท่าทันสื่อ"โดย "ทบทวนตำราเรียน" ให้มีการสื่อสาร ให้ความรู้เรื่องเพศตั้งแต่ระดับประถม
ทว่า…ในบางครั้ง "ผู้ใหญ่" ก็เป็นฝ่ายทำให้เด็ก "แก่แดด" สนใจเรื่องเพศในทางที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว "การเข้าถึงเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมบางครั้งไม่ใช่เพราะเด็ก แต่เป็นเพราะพ่อ-แม่ผู้ปกครองที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ เช่น โรงเรียนอนุบาลให้เด็กเต้นโชว์ดุ๊กดิ๊ก เลียนแบบนักร้องที่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ให้เด็ก ใส่เสื้อผ้าวับๆ แวมๆ กว่าเด็กจะเต้นเลียนแบบได้ ก็ต้องดูตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 50 รอบ เกิด การฝังจำในเด็ก จึงต้องให้การศึกษาเรื่อง การรู้เท่าทันมากขึ้น" ดร.สิขเรศ ให้ความเห็น
ขณะที่ "มุมมองฟากเยาวชน" ดารัณภพ พวงสมบัติ เยาวชนผู้ผลิตสื่อสมัยใหม่ กล่าวว่า "วัยรุ่นชาย" ร้อยละ 86 สามารถเข้าถึงเรื่องทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ โดยพ่อ-แม่ไม่รู้ อาทิ อาจจะใช้ช่วงที่อยู่คนเดียวหรือ "ลับสายตา" ผู้ใหญ่ ยิ่งสมัยนี้ที่เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่าย แต่ละคนมีมือถือ "สมาร์ทโฟน"ส่วนตัวด้วยแล้ว เพียงแค่ "ใส่หูฟัง" ไม่ให้มีเสียงเล็ดลอดออก ก็สามารถรับชมสื่อลามกอนาจารได้ แม้ขณะกำลัง "นั่งอยู่กับพ่อ-แม่" "ดารัณภพ" กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญมากกว่าการ "ไล่บล็อกเว็บโป๊" โดยภาครัฐ คือ บทบาทของ "ครอบครัว" ผู้ปกครองควรสร้างความเข้าใจเรื่องเพศให้กับบุตรหลาน มากกว่าที่จะไป "ดุด่า" ผู้ใหญ่ต้อง "ปรับทัศนคติ" ของตนเอง ให้เข้าใจว่า "เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย""เมื่อพบเห็นลูกค้นหาเรื่องเพศผ่าน สื่อต่างๆ ก็ควรพูดคุยและทำความเข้าใจ ชี้แนะสิ่งที่ถูกให้กับเขา ไม่ใช่เอะอะห้ามโดยไม่มีเหตุผล หรือใช้อารมณ์" ดารัณภพ กล่าว
ด้านเจ้าของเพจดัง "หมอแล็บแพนด้า" ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ฝากข้อคิดถึงพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ในเมื่อทุกวันนี้เรื่องเพศ "ปิดกั้นไม่ได้" ก็ถึงเวลาที่ต้อง "เปิดใจ"กล้าสอนกล้าพูดกับบุตรหลาน รับฟัง ทำความเข้าใจกันว่าข้อมูลต่างๆ อะไรทำตามได้ อะไร ไม่ควรทำ
"ในเมื่อมันปิดกั้นไม่ได้ เราก็เอาเรื่องนี้ มาเล่าให้ลูกหลานฟังไม่ดีกว่าหรือ พูดกับลูกให้มากขึ้น ก็จะทำให้สื่อโซเชียลไม่น่ากลัวอย่างที่กังวลกัน แนะนำสื่อที่ดี และแนะนำว่าสื่อที่ไม่ดีเป็นอย่างไร อะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำตาม ก็จะทำให้อยู่ได้อย่างมีความสุข ทำให้เด็กกลายเป็น SEX เปิด ฉลาดรู้ในเรื่องเพศศึกษา" เจ้าของเพจดัง ฝากทิ้งท้าย
ปัจจุบันประเทศไทยมี "พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559"และใน มาตรา 6 ระบุบทบาทของสถาบันการศึกษา ต้องจัดให้มีการสอนเพศศึกษา รวมถึง จัดหาและพัฒนา "หลักสูตร-บุคลากร" ให้มี ความรู้และทักษะในการให้คำแนะนำปรึกษา สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกับผู้เรียน
ทว่า…ลำพังการมีกฎหมายอย่างเดียวคงแก้ไขอะไรไม่ได้ หากคนในสังคมโดยเฉพาะ ผู้หลักผู้ใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และยัง "ยึดติด" กับกรอบคิดแบบเดิมๆ