เปิดโอกาส "คนพิการ" เป็นหุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม

เปิดโอกาส


"…งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากจะเป็นผู้พิการ และอยากช่วยเหลือตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่ปฏิบัติงานอะไร เพื่อชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยเหลือตนเองได้เพื่อจะทำให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม…"


จากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2517 เมื่อผนึกเข้ากับความมุ่งหมายของภาครัฐที่ร่วมมือกับภาคเอกชน คิดสร้างความตระหนักต่อสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต "คนพิการ" ให้เข้าถึงโอกาสทางสังคมในมิติต่างๆ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถ จนนำไปสู่การมีงานทำ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ "คนไทยทุกคนมีงานทำ" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ


เจตนารมณ์ที่ประกาศชัดแจ้ง จึงเป็นที่มาของกิจกรรมทางสังคมที่น่าสนใจไม่น้อย กับการลงนามความร่วมมือ (MOU)  "พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม" หรือ The Memorandum of the Public Private Partnership Deceleration of Welcome Disability ที่ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภามหาวิทยาลัย และสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนเปิดโอกาส พิการและผู้ด้อยโอกาสไทย (Workability Thailand) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้


นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานลงนามความร่วมมือ กล่าวว่า ทิศทางดำเนินงานของโครงการนับต่อจากนี้จะเป็นในรูปแบบการบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และคนพิการ ในการสนับสนุนหลักการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการ (Principle-based declaration) และร่วมสร้างความตระหนักต่อพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนโดยรอบผ่านตราสัญลักษณ์  Welcome Disability Mark หรือ Well-D ที่ได้รับการรับรองจาก Workability Asia ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายส่งเสริมความสามารถในการทำงานของคนพิการในภูมิภาคเอเซีย เพื่อปลูกฝังนโยบายการยอมรับความแตกต่างและความเท่าเทียม รวมถึงการไม่กีดกันคนพิการภายในองค์กร และขยายสู่การดูแลลูกค้าและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม นับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีและร่วมรณรงค์สังคมไทย ให้ร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลงคนพิการจากภาระให้เป็นพลัง


"ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของคนพิการ เพราะคนพิการเป็นเพียงผู้พิการแต่ทางกาย ทางด้านจิตใจและความคิดเขาไม่ได้พิการไปด้วย" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ จาก Workability Thailand ระบุว่า เราสามารถร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลง คนพิการจากภาระให้เป็นพลัง โดยการเสริมหนุนกลไกตัวกลางจากสภาและสมาคมธุรกิจ ในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคนพิการและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะขยายวงกว้างในประเทศและในภูมิภาคเอเชียแน่นอน ในขณะที่การเสริมหนุนจากภาคเอกชนที่ช่วยสร้างทักษะ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่คนพิการ ยังขยายผลอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจขึ้น (Win-Win Approach) ที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรนั้นๆ


เปิดโอกาส ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ตัวแทนจาก สสส.กล่าวว่า ทุกภาคสามารถช่วยให้ผู้พิการประสบความสำเร็จในการทำงานได้  โดยทั้งตัวผู้พิการและสังคมต้องปรับทัศนคติส่วนตัว นอกจากนี้ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส ต้องเตรียมศักยภาพตัวเองให้พร้อมที่จะออกไปทำงานในสังคมภายนอก ขณะที่ภาคสังคมต้องลดอุปสรรคและสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้  เพื่อผลักดันให้ผู้พิการมีงานทำให้มากที่สุด


"โครงการดังกล่าวทำให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าทำงานได้มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วอุปสรรคของคนพิการไม่ได้อยู่ที่ความรู้ความสามารถ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหาได้ด้วยการฝึกฝน แต่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อฝึกฝนแล้วหากสถานประกอบการไม่เอื้อต่อผู้พิการความรู้ความสามารถของผู้พิการก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ ดังนั้นโครงการนี้นับว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้พิการได้มีงานทำได้มากขึ้น นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการทำงานของผู้พิการกับสังคมซึ่งปัจจุบันสังคมช่วยผลักดันและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นสังคมที่เปิดสำหรับผู้พิการมากขึ้น"อุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ระบุ


ขณะที่ นายธิติ แก้วเมืองมา พนักงาน Ray Call Center กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้ผู้พิการได้มีพื้นที่ในการทำงานมากขึ้นช่วยผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างตนได้สั่งสมประสบการณ์และสามารถออกสู่สังคมได้ ทำให้กล้าคิด กล้าทำ ในสิ่งที่ผู้พิการส่วนใหญ่กลัวได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมการทำงาน ที่อดีตการจ้างงานคนพิการมีน้อยมาก ส่วนสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการก็เอื้อต่อผู้พิการมากขึ้น การสนับสนุนการมีงานทำของภาครัฐปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับผู้พิการ


เพราะสร้างโอกาสให้คนพิการที่จัดว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้มีงานทำด้วยความสามารถของตนเอง ขณะที่สังคมเกิดความตระหนักและเล็งเห็นคุณค่าอย่างแท้จริง โดยไปในแบบทัศนคติเชิงบวกย่อมดีและยั่งยืนกว่าการให้โอกาสแบบสังคมสงเคราะห์ และหากทำได้จริงตามที่ประกาศเจตนารมณ์ เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code